สัญญาจ้างแรงงาน : เป็นสัญญาต่างตอบแทน
จากการศึกษาแนวคิดพื้นฐานของการเกิดสัญญาจ้างแรงงาน
ทำให้เห็นและสรุปได้ว่า สัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ เป็นสัญญาต่างตอบแทน
สัญญาจ้างแรงงาน เป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาต่างมีฐานเป็นลูกหนี้ และเจ้าหนี้ซึ่งกันและกัน ในการปฏิบัติและใช้สิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างเป็นลูกหนี้ที่จะต้องจ่ายสินจ้าง หรือค่าจ้างเงินเดือน ให้แก่ลูกจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ และมีหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ต่อการทำงานของลูกจ้างรวมทั้งต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนให้ลูกจ้างได้รับความสะดวกสบายตามสมควร หรือตามความเหมาะสมในการทำงานด้วยการจัดสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง ส่วนลูกจ้างก็เป็นลูกหนี้ที่จะต้องทำงานด้วยตนเอง ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และรักษาผลประโยชน์ของนายจ้างอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันลูกจ้างก็เป็นเจ้าหนี้ในการบังคับชำระสินจ้าง หรือเรียกเอาค่าจ้างเงินเดือน จากนายจ้างและเรียกค่าเสียหายกรณีที่นายจ้างปฏิบัติหน้าที่บกพร่องแล้วทำให้ลูกจ้างได้รับความเสียหาย (มาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
ส่วนนายจ้างก็เป็นเจ้าหนี้ในการให้ลูกจ้างทำงาน ซึ่งถ้าลูกจ้างไม่ยอมทำงานโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเป็นเวลานานเกินสมควร นายจ้างก็อาจใช้สิทธิเลิกจ้างได้โดยอ้างเหตุของการละทิ้งการงานไปเสีย (มาตรา 583) และ ก็ยัง อาจเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้อีกด้วยถ้าการไม่ยอมทำงานนั้นทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (มาตรา 213 และมาตรา 215) หรือถ้าความเสียหาย นั้นเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้น ล่วงหน้าก่อนแล้ว ก็อาจเรียกค่าเสียหายได้ ตามมาตรา 222 วรรค 2