ขอบเขต การใช้บังคับ กฎหมายแรงงาน


2,558 ผู้ชม


ขอบเขต การใช้บังคับ กฎหมายแรงงาน




โดยเหตุที่กฎหมายแรงงานอาจแบ่งได้เป็น 4 ส่วน จึงอาจพิจารณาด้วยว่าในแต่ละส่วนมีขอบเขตการใช้บังคับดังนี้

  1. กฎหมายแพ่งว่าด้วยจ้างแรงงาน เป็นบทบัญญัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้บังคับแก่ คู่สัญญาตามสัญญาจ้างแรงงาน ในทุกกรณี กล่าวคือ เมื่อเกิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นไม่ว่าจะทำสัญญาจ้างแรงงาน เป็นลายลักษณ์อักษรโดยทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ตาม และไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ตาม คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 ว่าด้วยจ้างแรงงาน มาตรา 575-586 และกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติได้โดยเฉพาะในลักษณะดังกล่าว ก็ต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งทั่วไปมาใช้บังคับด้วย ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาในทางแพ่งชนิดหนึ่งด้วย

จึงสรุปได้ว่ากฎหมายแพ่งส่วนนี้ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างโดยทั่วไป ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐวิสาหกิจ

  1. กฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยหลักทั่วไปกฎหมายนี้ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน เว้นแต่ลูกจ้างบางประเภทหรือกิจการบางประเภทที่กฎหมายนี้กำหนดยกเว้นความคุ้มครองหรือจำกัดความคุ้มครองไว้ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ซึ่งก็จะไม่นำกฎหมายนี้มาบังคับหรือนำมาใช้บังคับบางส่วน แล้วแต่กรณี เช่น บุคคลที่ทำงานในราชการส่วนต่างๆ กิจการรัฐวิสาหกิจ กิจการโรงเรียนเอกชน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่ และครู กิจการในงานเกษตรกรรม หรือกิจการของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นต้น ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ ส่วนลูกจ้างบางประเภทอาจได้รับความคุ้มครองโดยถูกจำกัด อันได้แก่ ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย  ได้รับความคุ้มครองในบางเรื่อง เช่น วันหยุดพักผ่อนประจำปี ความเสมอภาคระหว่างชาย – หญิง ในการได้รับค่าตอบแทนในการทำงานการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินตราไทย สถานที่และเวลาในการจ่ายค่าตอบแทนในการทำงาน เป็นต้น  ลูกจ้างในกิจการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ  ได้รับความคุ้มครองในบางเรื่อง เช่น ความเสมอภาคระหว่างชาย – หญิง ในการได้รับค่าตอบแทนในการทำงานการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินตราไทย สถานที่และเวลาในการจ่ายค่าตอบแทนในการทำงาน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้อง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีลูกจ้างประเภทที่ได้รับความคุ้มครองแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในบางเรื่อง (มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา กำหนดงานที่ให้มีการคุ้มครองแรงงานแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2541) อันได้แก่

                1)  ลูกจ้างในกิจการปิโตรเลียม รวมตลอดถึงงานซ่อมบำรุงและงานให้บริการเกี่ยวกับงานดังกล่าว เฉพาะที่ทำงานในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิต ได้รับความคุ้มครองแตกต่างไปในเรื่องเวลาทำงานปกติ ช่วงวันทำงาน วันหยุดประจำช่วง วันหยุดตามประเพณีและการฝึกอบรม (ข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม โดยข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2543))

                2)  ลูกจ้างในงานวิชาชีพหรือวิชาการ  งานด้านบริการและการจัดการ งานเสมียนพนักงาน งานอาชีพเกี่ยวกับการค้า งานอาชีพด้านบริการ งานที่เกี่ยวกับการผลิต หรืองานที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว ได้รับความคุ้มครองแตกต่างกันไปในเรื่องเวลาทำงานปกติ และสิทธิได้รับค่าตอบแทนกรณีตกลงทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง (ข้อ 2 แก้ไขเพิ่มเติม โดยข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543))

                3)  ลูกจ้างในงานร้านขายอาหารหรือร้านขายเครื่องดื่มที่เปิดจำหน่ายหรือให้บริการไม่ติดต่อกันในแต่ละวันที่มีการทำงาน ได้รับความคุ้มครองแตกต่างไปในเรื่องเวลาพัก (ข้อ 3 )

                4)  ลูกจ้างในงานวิชาชีพหรือวิชาการเกี่ยวกับการสำรวจ ขุดเจาะ กลั่นแยก และผลิตผลิตภัณฑ์ จาก ปิโตรเลียม หรือปิโตรเคมี  กรณีเป็นลูกจ้างหญิงได้รับความคุ้มครองแตกต่างไปในเรื่องงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกาย (ข้อ 4)

                5)   ลูกจ้างในตำแหน่งผู้บริหารหรืองานวิชาการ งานธุรการ รวมทั้งงานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี กรณีเป็นหญิงมีครรภ์ ได้รับความคุ้มครองแตกต่างไปในเรื่องการทำงานล่วงเวลา (ข้อ 5)

                6)  ลูกจ้างในงานเร่ขายหรือชักชวนซื้อสินค้า ได้รับความคุ้มครองแตกต่างไปในเรื่องค่าล่วงเวลาในวันหยุด (ข้อ 6 )

  1. กฎหมายแรงงานสัมพันธ์   เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ลูกจ้างโดยทั่วไป ยกเว้นลูกจ้างหรือบุคคลบางประเภทที่ไม่ได้รับความคุ้มครองซึ่งได้แก่ บุคคลที่ทำงานในราชการส่วนต่างๆ รวมทั้งราชการกรุงเทพมหานครและเมือพัทยา พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ  พนักงานและลูกจ้างของธนาคารแห่งประเทศไทย  รวมตลอดถึงพนักงานและลูกจ้างของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย
  2. กฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  ใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างโดยทั่วไปตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจกับพนักงานลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจด้วย โดยกฎหมายนี้มิได้บัญญัติยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายไว้เลย

บทความ : รศ.ดร.วิจิตรา  วิเชียรชม


อัพเดทล่าสุด