คำนิยาม คำว่า สภาพการจ้าง
คำนิยามที่สำคัญคือ คำว่า “สภาพการจ้าง” ซึ่งหมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือ การทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือ ประโยชน์อื่นของนายจ้าง หรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน
คำว่า “สภาพการจ้าง” นั้นโดยเจตนารมณ์ หมายถึง นิติสัมพันธ์หรือการปฏิบัติทั้งหลายระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ตั้งแต่แรกเข้าทำงานจนกระทั้งถึงการเลิกจ้าง คือ ตั้งแต่เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน การกำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง รวมทั้งประโยชน์ต่างๆ ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่เกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานด้วย ดังนั้น เรื่องใดก็ตามที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแล้ว จะเป็นสภาพการจ้างทั้งสิ้น เช่น กำหนดการเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี ก็เป็นสภาพการจ้าง กำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างที่ต้องเข้าทำงาน 8 นาฬิกา เลิกงาน 17 นาฬิกา ก็เป็นสภาพการจ้าง เป็นต้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 416/2534 ลูกจ้างเรียกร้องให้ผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าครองชีพ เป็นการเรียกร้องเอาค่าจ้างหรือผลประโยชน์อันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานถือว่าเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
คำพิพากษาฎีกา 4139/2530 การจัดที่พักให้ลูกจ้างหรือการจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง สวัสดิการประเภทนี้ มิใช่สวัสดิการที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใดฉบับนึ่งบังคับให้นายจ้างต้องจัดให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของสถานประกอบการแต่ละราย
คำพิพากษาฎีกาที่ 3680/2532 ข้อตกลงที่ให้นายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามลายมือชื่อลูกจ้างซึ่งยินยอมให้หักค่าจ้างไม่เกินคนละ 75 บาท ต่อเดือน แล้วส่งให้ประธานหรือเหรัญญิกของ สหภาพ แรงงานเพื่อเป็นค่าบำรุงและค่าฌาปณกิจ ถือเป็นข้อตกลงอย่างอื่นไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้างงานของนายจ้างและลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงในเรื่องการหักค่าจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และมาตรา 12 ที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติตาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 6515/2543 การที่นายจ้างให้มีพยาบาลประจำเรือเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างซึ่งเป็นสวัสดิการนั้น แม้นายจ้างกระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียวและไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม ย่อมถือได้ว่าเป็นสภาพการจ้างโดยปริยายแล้ว แม้นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสภาพการจ้างดังกล่าว
คำพิพากษาฎีกาที่ 8003/2543 ระเบียบข้อบังคับของนายจ้างกำหนดไว้แต่เพียงว่าจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง งวดมิถุนายนและธันวาคมเท่านั้น ส่วนจะจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างจำนวนเท่าใดไม่ได้กำหนดไว้ ที่นายจ้างจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างปีละ 4.5 ของเงินเดือนตลอดมา (ระหว่าง 2534 ถึง 2539 ซึ่งมีกำไร) ไม่เป็นสภาพาการจ้างอันมีผลผูกพันให้นายจ้างต้องจ่ายโบนัสให้จำนวนดังกล่าวตลอดไป การที่นายจ้างจ่ายโบนัสให้ลูกจ้าง ในปี 2541 (ระหว่าง ปี 2540 -2541 ซึ่งขาดทุน เท่ากับเงินเดือน 1 เดือน จึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างแล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ 4503/2545 ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานในเรื่องที่นายจ้างอนุญาตให้สหภาพแรงงานได้มีที่ทำการของสหภาพแรงงานอยู่ในบริเวณบริษัทนายจ้างเช่นเดิมต่อไป เป็นกรณีที่นายจ้างให้ความสะดวกเพื่อประโยชน์ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะมิใช่เรื่องอันเป็น “สภาพการจ้าง” จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
คำพิพากษาฎีกาที่ 3033-3189/2548 นายจ้างประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล กำหนดเวลาทำงานไว้ไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัตินายจ้างให้ลูกจ้างบางกลุ่มทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง และใช้ฐานการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงในการคิดค่าล่วงเวลา กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่นายจ้างให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างบางกลุ่มได้ทำงานต่ำกว่าชั่วโมงการทำงานที่กำหนดไว้ในระเบียบ นายจ้างย่อมมีสิทธิไม่ให้ประโยชน์ดังกล่าวต่อไป โดยประกาศยกเลิกทางปฏิบัติให้ลูกจ้างทุกกลุ่มทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงได้ ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
อ้างอิง : ศาตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ, คำอธิบายกฎหมายแรงงาน