การบริหารกฎหมาย : อำนาจของพนักงานตรวจแรงงาน
พนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตรวจตราดูแลและสั่งการเพื่อให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ โดยมีอำนาจตามมาตรา 139 คือ
- เข้าไปในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง และสถานที่ทำงานของลูกจ้าง เพื่อตรวจสภาพการทำงานของลูกจ้างและสภาพการจ้าง และกระทำการอย่างอื่นในอันที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้
- มีหนังสือสอบถามหรือเรียกนายจ้าง ลูกจ้าง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณา และ
- มีคำสั่งเป็นหนังสือให้นายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้
คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรา 139(3) นี้ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ที่ไม่พอใจคำสั่งนำคดีไปสู่ศาลได้ดังเช่นมาตรา 125 จึงอาจเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งผู้ไม่พอใจคำสั่งย่อมอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 141 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างหรือลูกจ้างได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 139 (3) ภายในระยะเวลาที่กำหนด การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างหรือลูกจ้างให้เป็นอันระงับไป” จะเห็นได้ว่า การที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะเป็นความผิดตามมาตรานั้นๆ ทันที ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานหรือลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายก็สามารถดำเนินคดีแก่นายจ้างได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแต่อย่างใด แต่ถ้าพนักงานตรวจแรงานมีคำสั่งตาม มาตรา 139(3) แล้ว และนายจ้างปฏิบัติตามก็มีผลทำให้ความผิดอาญานั้นเป็นอันระงับไป ก็นับว่าเป็นบทบัญญัติที่ค่อนข้างแปลกอยู่พอสมควร ในทางตรงกันข้ามถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็จะมีความผิดพิเศษมาตรา 146
คำอธิบายกฎหมายแรงงาน
โดย ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ