กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 126 กำหนดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงาน ตาย หรือในกรณีอื่นๆ ที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้กำหนดให้ช่วยเหลือหรือให้การสงเคราะห์
กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างประกอบด้วยเงินสมทบที่ได้มาจากนายจ้างและลูกจ้าง เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเงินทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เงินดอกผลของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและเงินอื่นๆ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 127
สำหรับการบริหารกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนั้นจะมีคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างทำหน้าที่ดูแลบริหารกิจการเพื่อประโยชน์ของการดำเนินการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
มาตรา 130 กำหนดให้ลูกจ้างสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปต้องเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งจะถูกบังคับให้หักค่าจ้างส่งเข้าสู่กองทุนนี้ อย่างไรก็ตามมาตรานี้ยังได้กำหนดด้วยว่า ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กิจการที่นายจ้างจัดให้ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพหรือจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างออกจากงานหรือตาย ดังนั้น ลูกจ้างที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วหรือลูกจ้างที่นายจ้างได้จัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ออกจากงานหรือตายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎกระทรวงจะออก มาก็ไม่ต้องเป็นสมาชิกของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแต่อย่างใด
มาตรา 131 กำหนดว่านับแต่วันที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบโดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของค่าจ้าง จึงทำให้เห็นว่าลูกจ้างอาจจะต้องถูกหักค่าจ้างถึงร้อยละ 5 เพื่อส่งเข้าเป็นเงินสะสมในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย กฎกระทรวงตามมาตรา 131 จึงยังไม่ออกมาใช้บังคับ
อนึ่ง การจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะเริ่มดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกามาใช้บังคับ (มาตรา 163)
คำอธิบายกฎหมายแรงงาน
โดย ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ