อายุความ


769 ผู้ชม


อายุความ




    

การใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจ้างหรือผู้มีหน้าที่จ่ายเงินต่างๆตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้นตกอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ซึ่งโดยปกติได้แก่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 6 อายุความ มาตรา 193/9 ถึงมาตรา 193/35 ซึ่งศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยโดยถือบทบัญญัติดังกล่าวตลอดมา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงมีอายุความดังนี้

  1. ค่าจ้างตามสัญญาจ้าง (มาตรา 5 ) มีอายุความ 2 ปี (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (8) , (9) และคำพิพากษาฏีกาที่ 769/2533 , 2044/2532, 3042/2531, 3530/2529)
  2. ค่าจ้างสำหรับวันหยุด (มาตรา 56, 67, 71, 72) มีอายุความ 2 ปี (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193//34 (8), (9) และคำพิพากษาฎีกาที่ 1525/2527)
  3. เงินที่จ่ายแทนค่าจ้าง (ระหว่างหยุดกิจการตามมาตรา 75 หรือระหว่างหยุดใช้เครื่องจักรตามมาตรา 105 หรือระหว่างพักงานตามมาตรา 116, 117) มีอายุความ 2 ปี (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (8), (9)
  4. ค่าล่วงเวลา (มาตรา 5 , 61 , 65, 72,74) ค่าทำงานในวันหยุด (มาตรา 5, 62,64, 66, 74) และค่าล่วงเวลาในวันหยุด (มาตรา 5 , 63, 64, 65, 72, 74) มีอายุความ 2 ปี  (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (8),(9) และคำพิพากษาฎีกาที่ 1525/2527, 2923/2523, 2754/2523)
  5. ค่าชดเชย (มาตรา 118) มีอายุความ 10 ปี (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30) คำพิพากษาฎีกาที่ 1218/2524 , 774-780/2524, 1568/2523) และค่าชดเชยพิเศษทุกจำนวน (มาตรา 120, 121, 122) มีอายุความ 10 ปี เช่นเดียวกับค่าชดเชย

อย่างไรก็ตาม  กรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้างมาตรา 10 ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 ไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา 62, 64 ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63, 64 ไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตามมาตรา 70 ไม่จ่ายค่าจ้างกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างเดินทางไปทำงานท้องที่อื่นตามมาตรา 71, 72 ไม่จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมาตรา 90 เป็นความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น การใช้สิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า “ ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องเนื่องจากความผิดนั้น ย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่กฎหมายลักษณะอาญาบัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา...” เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน จึงมีอายุความในการฟ้องคดีอาญา 5 ปี ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) ดังนั้น อายุความสำหรับเงินต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจึงมีอายุความ 5 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ตามนาวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4804/2545)

คำอธิบายกฎหมายแรงงาน

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์  วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด