การยื่นคำร้อง


780 ผู้ชม


การยื่นคำร้อง




    

 มาตรา 123 ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด

ในกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าลูกจ้างถึงแก่ความตายให้ทายาทโดยธรรมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้

บทบัญญัติข้างต้นมีเจตนารมณ์เพื่อที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ไม่ได้รับเงินต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินประกัน ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม รวมทั้งเงินต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และลูกจ้างนั้นไม่ประสงค์จะไปฟ้องร้องโดยตรงยังศาลแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการให้ก็ได้  โดยต้องยื่นคำต้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือท้องที่ที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่

ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะยื่นคำร้อง  ทายาทโดยธรรมของลูกจ้างคนหนึ่งคนใดหรือทุกคนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน

หากนายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินตามกฎหมาย ลูกจ้าง สามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ 2 ทาง กล่าวคือ

  1. ใช้สิทธิทางศาลโดยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน และ
  2. ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการสอบสวนและมีคำสั่ง และเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้าง ไม่พอใจก็สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ศาลทำการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตามมาตรา 125

อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิของลูกจ้างดังกล่าวต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิทั้งสองทางพร้อมกันได้ ดังนั้น หากลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อเรียกร้องเงินต่างๆ ตามสิทธิในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน ก็ไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องเงินดังกล่าว ได้อีกจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะเสร็จสิ้น

คำพิพากษาฏีกาที่ 238/2545  การที่ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นเงินตามสิทธิในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ถือว่าลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม มาตรา 123 เมื่อปรากฏว่าในระหว่างที่พนักงานตรวจแรงงานพิจารณาคำร้องของลูกจ้าง ลูกจ้างได้นำมูลการเลิกจ้างอย่างเดียวกันไปยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอให้บังคับนายจ้างจ่ายเงินให้เช่นเดียวกับที่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไว้  ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องเรียกเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  ดังกล่าว

แต่สำหรับในส่วนที่ลูกจ้างฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการฟ้องเรียกร้องตามสิทธิ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิใช่ฟ้องตามสิทธิแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาคดีในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 570/2545 ในกรณีที่ลูกจ้างเห็นว่านายจ้างเลิกจ้างโดยตนไม่ได้กระทำความผิด และไม่จ่ายเงินใดๆ ที่จะต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลูกจ้างชอบที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงาน หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานทางใดทางหนึ่ง หากเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็ต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ไม่อาจใช้สิทธิควบคู่ไปด้วยได้

คำอธิบายกฎหมายแรงงาน

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์  วิลาวรรณa

อัพเดทล่าสุด