การจ่ายค่าชดเชย กรณี นายจ้างปรับปรุงกิจการ
การจ่ายค่าชดเชยกรณีนายจ้างปรับปรุงกิจการ
มาตรา 121 ในกรณีที่นายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง ห้ามมิให้นำมาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ ค่าจ้างอัตราสุดท้าย ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือ เท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย
ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย
มาตรา 122 ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตาม มาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงานครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยตามมาตรานี้ รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
เพื่อประโยชน์ ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ กรณีระยะเวลาทำงานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี
คำอธิบาย
บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษกรณีที่นายจ้างปรับปรุงกิจการของนายจ้างในด้านต่างๆ คือ
- ปรับปรุงหน่วยงาน ได้แก่ การจัดวางรูปองค์การใหม่หรือ จัดหน่วยงานใหม่ ไม่ให้หน่วยงานแต่ละหน่วยทำงานซ้ำซ้อนกัน เป็นผลทำให้มีหน่วยงานน้อยลง และต้องใช้คน ทำงานน้อยลง ซึ่งในกรณีนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อในภาษาอังกฤษ เช่น Restructuring (การปรับโครงสร้าง) , Reengineering (การรื้อปรับระบบ) , Downsizing (การปรับลดขนาดองค์การ) เป็นต้น
- ปรับปรุงกระบวนการผลิต ได้แก่ การลดขั้นตอนในการผลิตให้น้อยลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตให้ผลิตได้รวดเร็วขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น เป็นเหตุให้ต้องใช้คนทำงานน้อยลง
- ปรับปรุงการจำหน่าย ได้แก่ การเปลี่ยนวิธีการจำหน่ายสินค้าไปยังลูกค้าด้วยวิธีการใดๆก็ตาม เพื่อให้มีการจำหน่ายสินค้ากระทำได้รวดเร็วขึ้นและใช้คนในการจำหน่ายหรือขนส่งสินค้าลดน้อยลง
- ปรับปรุงการบริการ ได้แก่ การใช้เครื่องจักร หรือเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งหุ่นยนต์ มาใช้บริการแทนคนหรือใช้เครื่องอัตโนมัติให้ลูกค้าบริการตนเอง (เช่น กรณีที่ธนาคารได้นำเครื่องฝากถอนเงินด้วยตนเอง (ATM) มาใช้แทนคน เป็นต้น) ทำให้คนทำงานน้อยลง
การปรับปรุงกิจการดังกล่าวข้างต้น ถ้านายจ้างกระทำโดยวิธีการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม (คำว่า เทคโนโลยี นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง วิทยาการที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม) ซึ่งการปรับปรุงกิจการดังกล่าวหากนายจ้างมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของนายจ้างไว้ 2 ประการ คือ การจ้างการเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยพิเศษ
สำหรับเรื่องการแจ้งการเลิกจ้างนั้น เมื่อนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างคนหนึ่งคนใด ด้วยเหตุดังกล่าว นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุเลิกจ้างนั้นต่อบุคคลสองฝ่ายด้วยกัน คือ
- พนักงานตรวจแรงงาน (ซึ่งหมายถึง ข้าราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นพนักงานตรวจแรงงาน) ซึ่งรับผิดชอบในท้องที่ที่มีการเลิกจ้างนั้น
- ลูกจ้าง ที่ต้องถูกเลิกจ้างนั้น
ส่วนเรื่องที่จะต้องแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างทราบก็คือ วันที่ที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อของลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างนั้น กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนที่จะเลิกจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งการเลิกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างก็จะมีความผิดตามมาตรา 146 แต่ถ้าเป็นกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าหรือแจ้งแต่ไม่ครบ 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง นั้นเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วัน สุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณ เป็นหน่วย
ส่วนการจ่ายค่าชดเชยพิเศษนั้น กฎหมายกำหนดว่าในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ถ้าลูกจ้างได้ทำงานมาแล้วครบ 6 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า ค่าชดเชยพิเศษ ให้แก่ลูกจ้างนั้นด้วยโดยกำหนดให้จ่ายในอัตราเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วัน หรือเท่ากับ ค่าจ้าง 15 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ทั้งนี้ ต่อระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างทุกๆ 1 ปีที่ลูกจ้างทำงานเกินกว่า 6 ปี
กฎหมายยังได้กำหนดจำนวนค่าชดเชยพิเศษไว้ด้วยว่า ค่าชดเชยพิเศษที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นจะต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน หรือค่าจ้างของการทำงาน 360 วัน สุดท้ายสำหรับลูกจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
สำหรับการนับระยะเวลาเพื่อการจ่ายค่าชดเชยพิเศษนั้นกฎหมายให้ถือตามจำนวนปีที่เกินกว่า 6 ปี การทำงานของลูกจ้าง ถ้าปีสุดท้ายนับได้น้อยกว่า 181 วันก็ให้ตัดทิ้ง แต่ถ้านับได้ 181 วันขึ้นไป แม้ไม่ครบ 1 ปีก็ให้ถือว่าเป็น 1 ปี ดังนั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงกิจการตามมาตรา 121 และ มาตรา 122 ก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้ทำงานมาแล้วตั้งแต่ 6 ปี 181 วัน ขึ้นไป และลูกจ้างที่จะได้รับค่าชดเชยพิเศษสูงสุดเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน ก็คือลูกจ้างที่ทำงานมาแล้วครบ 29 ปี 181 วันขึ้นไป
คำอธิบายกฎหมายแรงงาน
โดย ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ