กฎหมายแรงงาน : การทำงานล่วงเวลา


2,131 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การทำงานล่วงเวลา




มาตรา 24 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆไป

ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น

มาตรา 26 ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาตามมาตรา 24 วรรคหนึ่งและชั่วโมงทำงานในวันหยุดตามมาตรา 25 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อรวมแล้วจะต้องไม่เกินอัตราตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 31 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดในงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง

  คำว่า การทำงานล่วงเวลานั้น ได้กำหนดความหมายไว้ในมาตรา 5 ว่า

การทำงานล่วงเวลา หมายความว่า การทำงานนอกเหนือหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างตกลงกันในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี”

           

        บทบัญญัติข้างต้นกล่าวถึงเรื่องการทำงานล่วงเวลาซึ่งหมายรวมทั้งการทำงานนอกเวลา การทำงานเกินเวลา และการทำงานเกินชั่วโมงทำงาน สำหรับการทำงานนอกเวลาหรือทำงานเกินเวลา หมายถึง การทำงานนอกชั่วโมงทำงานปกติที่นายจ้างกำหนดไว้ คือทำงานก่อนเวลาเริ่มงานหรือทำงานหลังเวลาเลิกงานแล้ว ส่วนการทำงานเกินชั่วโมงทำงานหมายถึง ในกรณีที่นายจ้างไม่สามารถกำหนดเวลาเริ่มงานและเวลาเลิกงานเป็นการแน่นอนได้ นายจ้างกับลูกจ้างอาจตกลงกันว่าให้ลูกจ้างทำงานวันละ 8 ชั่วโมง โดยเริ่มทำงานเมื่อใดก็แล้วแต่ให้ทำไปจนครบ 8 ชั่วโมงก็เป็นอันเลิกงานได้ กรณีเช่นว่านี้การทำงานล่วงเวลาก็คือการทำงานในชั่วโมงที่ 9 เป็นต้นไป แต่บทบัญญัติตามกฎหมายฉบับนี้กำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน ดังนั้นการทำงานล่วงเวลา จึงเป็นไปตามอำเภอใจหรือภายใต้ความยินยอมของลูกจ้างแต่ละคน นายจ้างไม่มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา   กฎหมายยังให้การคุ้มครองลูกจ้างต่อไปอีกว่าการให้ความยินยอมครั้งเดียวในขณะทำสัญญาไม่อาจนำมาใช้ได้ ลูกจ้างต้องให้ความยินยอมก่อนการทำงานล่วงเวลาเป็นครั้งคราวไป ในขณะเดียวกัน กฎหมายได้คุ้มครองจำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลาไว้ด้วย โดยเมื่อรวมจำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลาและชั่วโมงทำงานในวันหยุดแล้วก็จะต้องไม่เกินว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ.2541) กำหนด ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง และชั่วโมงทำงานในวันหยุด ตามมาตรา 25 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อรวมกันแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสามสิบหกชั่วโมง”  และ ชั่วโมงทำงานในวันหยุดให้หมายความรวมถึงชั่วโมงทำงานล่วงเวลาในวันหยุดด้วย”

 

        ในงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยของลูกจ้าง นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาไม่ได้เลย งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างนั้นได้กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 23 แล้ว ซึ่งได้แก่ กฎกระทรวง ฉบับที่2 (พ.ศ.2541)

 

        อย่างไรก็ดี ในกรณีนายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานล่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานล่วงเวลาที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ก็ตาม นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 61 หรือมาตรา 63 แล้วแต่กรณี

        ในเรื่องการทำงานล่วงเวลามีข้อยกเว้นไว้ตามวรรคสองของมาตรา 24 ว่าในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น การที่จะพิจารณาว่างานใดเป็นงานฉุกเฉินหรือไม่นั้น มีคดีที่นายจ้างเคยยกเป็นข้อต่อสู้และศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วที่สำคัญคือ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 3117/2526  การที่มีผู้เข้าชมกิจการฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ของนายจ้างในวันเทศกาลตรุษจีนเป็นจำนวนมาก แม้จะเป็นกรณีพิเศษกว่าวันปกติธรรมดาก็ไม่ถือว่างานดังกล่าวเป็นงานฉุกเฉิน จะหยุดเสียไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2985-2986 /2543  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานนั้น หมายถึงงานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติ มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ หากหยุดก่อนงานที่ทำนั้นเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินนั้นหมายถึงงานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า และงานนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นทันที มิฉะนั้นงานที่เกิดขึ้นนั้นจะเสียหายงานขึ้นรูปปลาสวรรค์ที่ลูกจ้างทั้งสองทำให้แก่นายจ้างนั้น เป็นการนำเนื้อปลามาทำเป็นรูปปลาชิ้นเล็กๆ ซึ่งเป็นงานที่ทำเสร็จเป็นชิ้นๆ เมื่อทำงานตามที่ได้รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้ว แม้ไม่ทำงานล่วงเวลาต่อไปนี้ ก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมต้องเสียหายแต่อย่างใด จึงมิใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพะงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานและการที่นายจ้างได้รับคำสั่งซื้อปลากสวรรค์จากลูกจ้างเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวนั้น ก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า จึงไม่ใช่งานฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคสอง  เมื่องานขึ้นรูปปลาสวรรค์มิใช่งานที่นายจ้างจะให้ลูกจ้างทั้งสองทำงานล่วงเวลาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างทั้งสองก่อนได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 วรรคสอง การที่ลูกจ้างทั้งลองไม่ยอมทำงานดังกล่าวล่วงเวลาตามที่นายจ้างสั่งให้ทำ ย่อมไม่มีความผิดที่นายจ้างจะออกหนังสือเตือนได้

คำพิพากษาฎีกาที่4121/2543  สัญญาจ้างแรงงานนอกจากจะบังคับใช้ตามบรรพ 3 ลักษณะที่ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยงต้องบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะให้สอดคล้องกันด้วยในเรื่องการทำงานล่วงเวลาได้มีการบัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉะนั้น นายจ้างจะมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่เพียงใด ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายฉบับนี้ คู่กรณีจะทำสัญญาให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหาได้ไม่ โดยกฎหมายฉบับนี้วางหลักเกณฑ์ว่า นายจ้างไม่มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน นอกจากจะเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นคราวๆไป หมายความว่า เมื่อนายจ้างประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะเวลาใด นายจ้างจะต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาไว้ก่อนล่วงเวลา หลังจากนั้นหากนายจ้างจะออกคำสั่งในเรื่องการทำงานล่วงเวลาอีกก็ต้องให้ สอดคล้องกับข้อตกลง ดังกล่าว ถ้าคำสั่งนั้นไม่สอดคล้องกับข้อตกลงต้องถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำงานล่วงเวลาที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวลูกจ้างไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามก็ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเรื่องกำหนดช่วงระยะเวลาการเริ่มต้น และการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไว้ คำสั่งของนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาตามประกาศของนายจ้าง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.  2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ลูกจ้างจะลงชื่อให้ความยินยอมว่าจะปฏิบัติตามประกาศของนายจ้าง ก็ไม่ผูกพันลูกจ้างให้ต้องทำงานล่วงเวลา การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานล่วงเวลาทุกวันตามคำสั่งของนายจ้างในประกาศดังกล่าว ยังไม่ถือว่าลูกจ้างขัดคำสั่งเรื่องการทำงานล่วงเวลา


ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

 

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ

อัพเดทล่าสุด