กฎหมายแรงงาน : ความหมายทั่วไป


868 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : ความหมายทั่วไป




กฎหมายแรงงาน : ความหมายทั่วไป

 

กฎหมายแรงงาน (Labour Law) หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง องค์การของนายจ้าง และองค์การของลูกจ้าง รวมทั้งมาตรการที่กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์การดังกล่าวต้องปฏิบัติต่อกันและต่อรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การจ้างงาน การใช้แรงงาน การประกอบกิจการ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปโดยเหมาะสม ต่างได้รับประโยชน์ที่พอเพียง อันจะมีผลทำให้เกิดความสงบสุข ความเจริญ และความมั่นคงแก่นายจ้าง ลูกจ้าง สังคม และประเทศชาติ

กฎหมายแรงงานที่สำคัญ

 

        กฎหมายแรงงานของประเทศไทยที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีหลายฉบับ ฉบับที่สำคัญซึ่งบังคับแก่กิจการเอกชนทั่วไป ควรที่นายจ้าง ลูกจ้าง นักศึกษา นักกฎหมาย และผู้ที่ประกอบอาชีพซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ต้องสนใจศึกษารายละเอียดมี 6 ฉบับ คือ

        1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะที่ 6 จ้างแรงงาน

        2. พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

        3. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

        4. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533        

        5. พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

        6. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

ที่มา

 

ประเทศไทยได้ตรากฎหมายแรงงานขึ้นและได้พัฒนาบทบัญญัติดังกล่าวตลอดมาจาเหตุปัจจัย แบบอย่าง อิทธิพลของแนวคิดและพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เช่น

            1. ความประสงค์ของผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งได้แก่ หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมาย เช่น กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารแรงงานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐสภา เป็นต้น รวมทั้งบุคลากรในหน่วยงานดังกล่าว

        2. การผลักดันและการเร่งเร้าเพื่อให้มีกฎหมายแรงงานที่เหมาะสม กับสถานการณ์ของประเทศของนักกฎหมายแรงงานและนักวิชาการแรงงานทั้งหลาย ที่ควรกล่าวถึง เช่น ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ ศาสตราจารย์นิคม  จันทรวิทุร เป็นต้น

        3. การเรียกร้องของลูกจ้าง  ที่กระทำโดยปัจเจกบุคคล เป็นคณะ หรือในรูปขององค์การของลูกจ้างต่างๆเช่น การเรียกร้องขอให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้างร้านขายแผ่นเสียงในเวิ้งนครเขษม กรุงเทพมหานคร ที่มีส่วนให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 การชุมนุมของลูกจ้างคนงานที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานครในเดือนมิถุนายน 2515 ที่ทำให้มีการแก้ไขอัตราคาชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จากเดิมซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายอัตราเดียว (เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน) เป็นให้จ่าย 3 อัตรา (เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 90 วัน และ 180 วัน) เป็นต้น

        4. การปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานการใช้แรงงาน ในประมวลกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ อนุสัญญา (Convention) และข้อแนะนำ (Recommendation) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization)  เช่น บทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เรื่องชั่วโมงทำงานจะสอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับที่ 1 และฉบับที่30 เรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์จะสอดคล้องกับอนุสัญญา ฉบับที่ 14 เรื่องการจ่ายค่าจ้างเท่าเทียมกันไม่ว่าลูกจ้างหญิงหรือชายจะสอดคล้องกับอนุสัญญา ฉบับที่ 100 บทบัญญัติในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เรื่องการเจรจาต่อรองจะคล้อยตามอนุสัญญา ฉบับที่ 98 และฉบับที่ 154 และเรื่องการระงับข้อพิพาทแรงงานจะสอดคล้องกับข้อแนะ ฉบับที่ 92 เป็นต้น

        5. การรับและบัญญัติตามแบบอย่างกฎหมายแรงงานในต่างประเทศ  เช่นบทบัญญัติในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม จะคล้ายกับบทบัญญัติ เรื่อง Unfair labour practices ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องคณะกรรมการลูกจ้างจะคล้ายกับบทบัญญัติของกฎหมายประเทศเยอรมนี และเรื่องการลงคะแนนเสียงลับของสหภาพแรงงานก่อนการนัดหยุดงานจะไปไปตามแบบของกฎหมายประเทศสหราชอนาจักร เป็นต้น

 

ความสำคัญ

 

     กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายสำคัญของทุกประเทศในปัจจุบัน กฎหมายแรงงานได้แสดงบทบาทและให้คุณประโยชน์แก่ประเทศทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศหลายประการ เช่น

        1.  การสร้างความเป็นธรรมในสังคม (Social justice)  กฎหมายแรงงานจะช่วยลดความเอารัดเอาเปรียบในการจ้างงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้ระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้สังคมมีความเป็นธรรมในขอบเขตของการยอมรับได้

        2. การสร้างความสงบสุขในสังคมอุตสาหกรรม (Industrial peace)  กฎหมายแรงงานจะกำหนดขั้นตอนและกระบวนการที่จะระงับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทแรงงานให้ยุติลงด้วยวิธีการที่ใกล้เคียงกับความพอใจของทุกฝ่ายมากที่สุด ซึ่งทำให้ข้อพิพาทแรงงานลดจำนวนลงหรือลดความเสียหายรุนแรงลง สังคมอุตสาหกรรมมีความสงบสุขมากขึ้น

        3. การถนอมแรงงงานและการพัฒนาคุณภาพชีวิต กฎหมายแรงงานจะช่วยมิให้ลูกจ้างต้องทำงานหนักเกินกำลังซึ่งทำลายทั้งสุขภาพและชีวิตให้เสียหายก่อนวัยอันสมควร ช่วยให้ลูกจ้างทำงานด้วยความปลอดภัย และมีโอกาสได้รับพิษภัยจากการทำงานน้อยลง ทั้งลูกจ้างจะได้รับสวัสดิการตามความเหมาะสมด้วย ซึ่งเป็นการถนอมแรงงานไว้ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และประชากรให้สังคมแรงงานมีคุณภาพชีวิตในการทำงาน (Quality of working life)  ที่ดี

        4. การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  กฎหมายแรงงานที่กำหนดถึงค่าตอบแทนในการทำงานที่เหมาะสม (เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ) หากมีความสัมพันธ์กับคุณภาพและปริมาณของผลผลิตโดยรวมของประเทศก็ย่อมทำให้เกิดการไหลเวียนของกระแสเงินตราทั้งในประเทศและระหว่างประเทศส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

        5. การส่งเสริมการลงทุน  กฎหมายแรงงานที่มีบทบัญญัติที่เหมาะสมทั้งในเนื้อหาและบทลงโทษ มีความแน่นอนในการบริหารกฎหมาย และมีสถาบันที่น่าเชื่อถือในการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ย่อมเป็นเครื่องมือในการเชื้อเชิญนักลงทุนมาลงทุนในประเทศที่มีกฎหมายในลักษณะดังกล่าว

        6. การดำรงศักดิ์ในสังคมระหว่างประเทศ  กฎหมายแรงงานที่สอดคล้องกับอนุสัญญาหรือข้อแนะนำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและคล้ายกับบทบัญญัติที่ทันสมัยของกฎหมายแรงงานในประเทศที่พัฒนาทางอุตสาหกรรม (Industrialised country) ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นถึงการพัฒนากฎหมายในประเทศนั้น เป็นการแสดงถึงความมีศักดิ์ศรีในสังคมระหว่างประเทศ (ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีกฎหมายแรงงานเป็นอย่างอื่น เช่นให้จ้างแรงงานเด็กอายุน้อยมากทำงานได้ ย่อมทำให้เกิดการตั้งข้อรังเกียจหรือการร่วมกันไม่ติดต่อค้าขายด้วย (Boycott)  การประณามหรือการประท้วงจากองค์การต่างๆ อย่างต่อเนื่องแพร่หลาย)

ประโยชน์ของการศึกษา

 

        การศึกษากฎหมายแรงงานเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะเป็นหรือเป็นนายจ้างหรือผู้ที่มีหน้าที่เป็นฝ่ายนายจ้างทุกระดับ ตั้งแต่กรรมการผู้จัดการไปจนถึงหัวหน้างานระดับต้นผู้ที่จะเป็นหรือเป็นลูกจ้างทุกคน รวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารกฎหมาย ผู้มีนห้าที่และรับผิดชอบในการแนะนำช่วยเหลือทางกฎหมาย และผู้มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงานหรือตัดสินคดีแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้าใจข้อกฎหมายแรงงานอย่างถูกต้องตามหลักการ ปรัชญา และเจตนารมณ์ สามารถนำไปปฏิบัติและดำเนินการได้อย่างถูกต้องครบถ้วน จึงจะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ผู้ศึกษาทั้งในด้านส่วนตัวและการปฏิบัติ หน้าที่การงาน


ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ คำอธิบายกฎหมายแรงงาน พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

ศาสตราจารย์เกษมสันต์  วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด