ประเภทที่ต้องใช้วิธีการวิเคราะห์ที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน (Complex Analytical Method)
ประเภทที่ต้องใช้วิธีการวิเคราะห์ที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน (Complex Analytical Method)
1. การให้คะแนนองค์ประกอบ (Point Assessment หรือ Point Rating System)
การให้คะแนนองค์ประกอบ เป็นวิธีการพิจารณางานในแต่ละตำแหน่งภายใต้องค์ประกอบที่กำหนดไว้ และในแต่ละองค์ประกอบก็มีการกำหนดคะแนนไว้ด้วย ตลอดจนได้จัดหน่วยวัดสำหรับการกำหนดตำแหน่งไว้ เพื่อใช้เป็นหน่วยวัดมาตรฐานต่อไป
สำหรับองค์ประกอบ คะแนนในแต่ละระดับขององค์ประกอบและหน่วยวัดมาตรฐานที่กำหนดขึ้นจะใช้กับการวัดหรือประเมินค่าของงานทุกๆงานหรือทุกๆตำแหน่ง ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ส่วนการดำเนินงานนั้นมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.1. กำหนดองค์ประกอบของงานหรือตำแหน่งที่จะใช้วัดหรือประเมิน โดยแต่ละองค์ประกอบจะต้อง
- เกี่ยวข้องกับงานหรือตำแหน่งที่จะประเมิน
- องค์ประกอบนั้นๆจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน
- ลักษณะของการทำงาน เช่น การทำงานเป็นกะ การทำงานในเวลากลางคืน เป็นต้น จะไม่นำมาประเมินแต่จะให้ค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยทั่วไปองค์ประกอบที่จะใช้ในการให้คะแนนจะได้แก่
1.1.1. ความรับผิดชอบในการบังคับบัญชา (Supervisory and Managerial Responsibility)
ได้แก่ จำนวนและประเภทของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นจะต้องควบคุมและปกครองบังคับบัญชา
1.1.2. การตัดสินใจ (Decision Made)
ได้แก่ ความรับผิดชอบของผู้ดำรงตำแหน่งนั้นที่จะต้องตัดสินใจในการดำเนินงานในหน้าที่และความรับผิดชอบ
1.1.3. การควบคุมตรวจสอบที่ได้รับ (Supervision Recevied)
ได้แก่ การทำงานในตำแหน่งนั้นจะถูกควบคุม ตรวจสอบโดยวิธีการต่างๆ เช่น จากผู้บังคับบัญชา จากระบบงาน หรือจากการให้คำแนะนำปรึกษา แนะแนวทางในการปฏิบัติงาน
1.1.4. ความยุ่งยากของงาน (Work Complexity)
ได้แก่ ความยุ่งยากในการปฏิบัติงานในตำแหน่งงานนั้น ในด้านการพิจารณาไตร่ตรอง ประเภทของงานที่มีทั้งแรงกดดันต่างๆที่เกี่ยวข้อง
1.1.5. การติดต่อ (Contacts)
ได้แก่ การปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นจะต้องติดต่อกับงานอื่นๆ หรือผู้อื่น โดยเน้นวัตถุประสงค์ในการติดต่อ
1.1.6. ความคิดริเริ่มที่ต้องใช้ (Creative Work)
ได้แก่ ความคิดริเริ่มที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้น ซึ่งอาจเป็นการร่างหนังสือ การวางโครงการ การใช้จินตนาการในการประมวลเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
1.1.7. การศึกษา (Education)
ได้แก่ ความรู้ความสามารถที่ได้มาจากการศึกษาที่จะใช้ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นๆ
1.1.8. ประสบการณ์ (Experience)
ได้แก่ ระยะเวลาของประสบการณ์ที่น้อยที่สุดที่ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นจะต้องมีก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่ง
1.2. กำหนดน้ำหนักของคะแนนในแต่ละองค์ประกอบ และระดับของคะแนนในแต่ละองค์ประกอบ
1.3. วิเคราะห์งานโดยเลือกตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งหลักมาทดลองวิเคราะห์เพื่อทดสอบความถูกต้อง
1.4. กำหนดระดับตำแหน่งตามคะแนนที่ได้โดยจัดทำรูปตาราง เพื่อใช้เป็นหลักในการกำหนดระดับตำแหน่งต่อ
ไป
2. การเปรียบเทียบองค์ประกอบ (Factor Comparison System)
การเปรียบเทียบองค์ประกอบเป็นวิธีการพิจารณางานของแต่ละตำแหน่งภายใต้องค์ประกอบที่กำหนดไว้เช่นเดียวกับการให้คะแนนองค์ประกอบ
2.1. องค์ประกอบที่จะใช้ตามวิธีการนี้จะมีน้อยกว่าวิธีการให้คะแนนองค์ประกอบ ซึ่งจะได้แก่
2.1.1. ทักษะหรือความชำนาญงาน (Skill)
2.1.2. การใช้สติปัญญา (Mental Requirement)
2.1.3. ความสามารถทางร่างกาย (PhysicalRequirement)
2.1.4. ความรับผิดชอบ (Responsibility)
2.1.5. สภาพการทำงาน (Working Condition)
เมื่อกำหนดองค์ประกอบแล้ว จะเลือกตำแหน่งจำนวนหนึ่งเป็นตำแหน่งหลักที่เห็นว่าการกำหนดตำแหน่งหรือค่าตอบแทนยุติธรรมแล้วมาเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
2.2. การเปรียบเทียบองค์ประกอบอาจทำได้ 2 แบบ คือ
2.2.1. เปรียบเทียบองค์ประกอบเพื่อนำไปจัดลำดับงาน
ในการพิจารณาก็จะพิจารณาเปรียบเทียบงานของแต่ละตำแหน่งกับตำแหน่งอื่นๆ ทีละคู่ว่าสำคัญกว่า สำคัญเท่าเทียมกัน สำคัญน้อยกว่า เช่นเดียวกับการจับคู่เปรียบเทียบกันแต่ละเอียดกว่า เพราะไม่ได้เปรียบเทียบในลักษณะส่วนรวม แต่จะเปรียบเทียบทีละองค์ประกอบผลรวมที่ได้จะนำมาเรียงเพื่อกำหนดระดับตำแหน่งต่อไป
2.2.2. เปรียบเทียบองค์ประกอบเป็นตัวเงินโดยตรง
คือ การนำตำแหน่งหลักกลุ่มหนึ่งมาพิจารณาให้ได้ว่างานนั้นๆ ในแต่ละองค์ประกอบจะตีค่าออกมาเป็นตัวเงินได้เท่าไร แล้วจึงนำตำแหน่งที่ต้องการพิจารณามาเปรียบเทียบกัน ตำแหน่งหลัก ดังกล่าวทีละองค์ประกอบว่าในแต่ละองค์ประกอบนั้นควรได้รับค่าตอบแทนเท่าไร เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบค่าตอบแทนทุกๆองค์ประกอบแล้ว จะได้ค่าตอบแทนของตำแหน่งนั้นว่าเป็นเท่าไร
3. การประเมินองค์ประกอบ (Factor Evaluation System หรือ FES)
การประเมินองค์ประกอบ เป็นวิธีที่ใช้พิจารณากำหนดตำแหน่งหรือความสำคัญของงานในตำแหน่งที่มิใช่ตำแหน่งหัวหน้างาน หรืองานที่มีผู้ร่วมปฏิบัติงานไม่เกิน 3 คน และต้องเป็นงานที่ปฏิบัติในสำนักงาน โดยจะไม่คำนึงถึงปริมาณที่ปฏิบัติแต่จะคำนึงถึงลักษณะงานแต่เพียงอย่างเดียว
วิธีการกำหนดตำแหน่งตามวิธีนี้จะมีลักษณะใกล้เคียงกับวิธีการให้คะแนนองค์ประกอบ คือ จะต้องมีการกำหนดองค์ประกอบที่จะใช้วัด หรือใช้ประเมินตำแหน่งขึ้นมา ซึ่งองค์ประกอบที่กำหนดขึ้นนี้จะต้องเป็นองค์ประกอบที่สะท้อนถึงการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานทั่วไป
3.1. สำหรับองค์ประกอบต่างๆ ที่จะใช้พิจารณาได้แก่
3.1.1. ความรู้ที่ต้องใช้สำหรับตำแหน่งนั้น (Knowledge Required by the Position)
3.1.2. การถูกควบคุมบังคับบัญชา ( Supervisory Control)
3.1.3. เครื่องชี้นำหรือแนวทางการปฏิบัติงาน (Guidelines)
3.1.4. ความยุ่งยากของงาน (Complexity)
3.1.5. ขอบข่ายของงาน และผลกระทบต่องานอื่น (Scope and Effect)
3.1.6. การติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น (Personal Contacts)
3.1.7. วัตถุประสงค์ของการติดต่อ (Purpose of Contacts)
3.1.8. ความเหมาะสมทางกายภาพ (Physical Demands)
3.1.9. สิ่งแวดล้อมหรือสภาพการทำงาน (Work Environment)
องค์ประกอบเหล่านี้จะได้มีการกำหนดหรือนิยามระดับของความยากง่ายและให้คะแนนในแต่ละองค์ประกอบ รวมทั้งการจัดตารางเช่นเดียวกับการให้คะแนน
ในการวิเคราะห์นั้นจะทำการวิเคราะห์หน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งต่างๆตามองค์ประกอบและคะแนนที่กำหนดไว้ แล้วนำคะแนนรวมทั้งหมดของตำแหน่งนั้นๆไป เปรียบเทียบกับตารางซึ่งจะกำหนดออกมาว่าเป็นตำแหน่งระดับใด
การประเมินค่าของงานประเภทที่ต้องใช้การวิเคราะห์ที่ยุ่งยากซับซ้อน(Complex Analytical Methods) ทั้ง 3 วิธีนี้จะมีผลดังนี้
1. มีความแม่นยำกว่า เพราะวิเคราะห์งานอย่างละเอียดเป็นองค์ประกอบๆไป ไม่ใช่พิจารณาในลักษณะรวมๆ
2. สามารถอธิบายหรือชี้แจงข้อโต้แย้ง ข้อคัดค้านได้ง่าย และเข้าใจง่าย
3. การนำวิธีเหล่านี้มาใช้จะยุ่งยากและใช้เวลามากพอสมควร
4. ความผิดพลาดอาจเกิดได้มาก หากมีการเลือกองค์ประกอบที่ไม่ตรงกับลักษณะงานหรือไม่สะท้อนถึงงานนั้นๆ และให้ความสำคัญแก่องค์ประกอบต่างๆผิดพลาดไป
5. หากเลือกตำแหน่งหลักที่จะนำมาทดสอบผิดพลาดก็จะทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดไปด้วย
ที่มาจาก : การวิเคราะห์งาน โดย สุภาพร พิศาลบุตร