องค์ประกอบของผู้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์งาน


949 ผู้ชม


องค์ประกอบของผู้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์งาน




องค์ประกอบของผู้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์งาน

 

1. การวิเคราะห์งานกับการบริหาร

                การวิเคราะห์งานนับว่าเป็นงานลำดับแรกที่จะต้องจัดทำเพื่อการปฏิบัติภารกิจในทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ การวิเคราะห์งานจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจอันดีจากฝ่ายการจัดการในทุกระดับโดยเริ่มจากสูงสุดลงมา ถ้าฝ่ายบริหารระดับสูง เช่น ผู้อำนวยการหรือประธานของบริษัทไม่เข้าใจว่าหน่วยงานเพื่อการวิเคราะห์งานมีไว้ทำอะไร เขาจะไม่ให้การสนับสนุนด้วย เมื่อเกิดการขัดแย้งอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมาไม่ว่าผลงานการวิเคราะห์งานจะดีเพียงใด ความล้มเหลวจะต้องตามมาจึงควรจำไว้ว่าในหน่วยงานองค์การใดก็ตามผู้ที่อยู่ระดับต่ำกว่ามักจะคล้อยตามผู้ที่อยู่ระดับสูงกว่าเสมอ

                กลุ่มบุคคลที่ควรได้รับการชี้แจงถึงจุดประสงค์และวิธีการของการวิเคราะห์งานก็คือกลุ่มผู้บริหารระดับผู้ชำนาญการ ผู้จัดการ หัวหน้าแผนกหรือผู้ช่วย การเปิดอบรมระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงเป็นงานที่ควรทำก่อนจะลงมือทำงานการวิเคราะห์งาน การเปิดอบรมระยะสั้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์งานจะทำได้ดีก็ต่อเมื่อผู้ที่จะให้การอบรมมีความชำนาญพอและได้รับ ความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีการจัดทำการวิเคราะห์งาน และต้องเป็นผู้รู้เนื้อหาและสามารถที่จะถ่ายทอดได้

2. การวิเคราะห์งานกับผู้ปฏิบัติงาน

                นักวิเคราะห์พึงปฏิบัติต่อผู้ปฏิบัติงานดังนี้

                2.1. นักวิเคราะห์งานต้องเปิดเผยในการชี้แจงจุดมุ่งหมายในการวิเคราะห์งาน

2.2. ตัวแทนของผู้ปฏิบัติงานควรจะได้รับรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่และทำไปเพื่ออะไร การตั้งคำถามที่ถูกต้องแก่ผู้ปฏิบัติงานเป็นการเชิญชวนพวกเขาให้มีโอกาสอธิบาย และให้คำเสนอแนะได้

                2.3. แสดงให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นว่าเขาเป็นคนสำคัญในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับงาน จึงควรให้ความชอบทั้งหมดแก่เขาในหลายๆ สถานการณ์ หัวหน้างาน ผู้ปฏิบัติงานหรือ คณะผู้เชี่ยวชาญ ได้สร้างสรรค์แนวความคิดที่ดีช่วยให้การวิเคราะห์งานได้ผลตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้

3. นักวิเคราะห์งาน

                นักวิเคราะห์งาน คือ ผู้กระทำการวิเคราะห์ จะทำหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์ปรับปรุง ตัวเลข และข้อมูลในเรื่องการทำงาน ลักษณะงาน ตลอดจนหน้าที่งานนั้นๆ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการว่าจ้าง เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอย่างยุติธรรมต่อไป นักวิเคราะห์งานจะเป็นผู้เขียนบรรยายลักษณะงาน และกำหนดลักษณะเฉพาะของงาน ทักษะความรู้ การศึกษา และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำงาน

                3.1. ระดับนักวิเคราะห์งานอาจแบ่งได้ 4 ระดับ แต่ละระดับจะต่างกันในเรื่องชนิดของงานที่กระทำ ดังนี้

                                3.1.1. ระดับที่นักวิเคราะห์งานกำลังได้รับการฝึกอบรมเพื่อจะเป็นผู้วิเคราะห์งานจริงๆ

                                3.1.2. ผู้วิเคราะห์งาน คือ ผู้ทำงานประจำวันและวิเคราะห์งานง่ายๆตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายมา

                                3.1.3. ผู้วิเคราะห์งาน คือ ผู้กระทำการวิเคราะห์ในเรื่องค่าจ้าง เงินเดือนของพนักงาน

3.1.4. ผู้วิเคราะห์งาน คือ ผู้กระทำหน้าที่ในการบริหารค่าจ้าง เงินเดือน วิเคราะห์งานในระดับบริหารและแก้ไขปรับปรุงโครงการวิเคราะห์งาน

                ฉะนั้นจะเห็นได้ว่านักวิเคราะห์งานจะทำหน้าที่ตั้งแต่ในระดับต่ำสุด คือ ช่วยนักบริหาร ค่าจ้าง เงินเดือน จนถึงหน้าที่ในระดับสูง คือ วางนโยบายในการวิเคราะห์งานร่วมกับผู้บริหาร ระดับสูง

                3.2. คุณสมบัติสำหรับนักวิเคราะห์งาน ควรเป็นดังนี้

3.2.1. ผู้วิเคราะห์งานควรมีความรู้ในเรื่องการปฏิบัติงานของธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่ตนกำลังจะทำการวิเคราะห์งาน

3.2.2. มีบุคลิกภาพดีและมีความสามารถในการที่จะได้รับความร่วมมือจากบรรดาพนักงานในการสัมภาษณ์

3.3.3. มีความสามารถเชิงวิเคราะห์ ที่จะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างงานและหน้าที่ต่างๆ ตลอดจนจดบันทึกและรายงานข้อมูลในการทำงานอย่างถูกต้อง

3.3.4. สามารถจะทำการติดต่อกับพนักงาน ซึ่งมีความรู้ในระดับแตกต่างกันรวมทั้งความสามารถในการพูดและเขียน

3.3.5. มีความรู้ในการวิจัยเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ

               

ที่มาจาก : การวิเคราะห์งาน โดย สุภาพร พิศาลบุตร

อัพเดทล่าสุด