ความสำคัญของการวิเคราะห์งาน


693 ผู้ชม


ความสำคัญของการวิเคราะห์งาน




ความสำคัญของการวิเคราะห์งาน

 

 

                การวิเคราะห์งานเป็นหน้าที่พื้นฐานสำหรับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และเป็นเครื่องมือ ที่จำเป็นสำหรับนำไปใช้ในกระบวนการบริหารและการแก้ปัญหางาน เมื่อองค์การมีการว่าจ้างคนเข้ามาทำงานแล้ว พนักงานหรือลูกจ้างแต่ละคนจะต้องทราบว่าหน่วยงานต่างๆที่เข้าไปทำงานนั้นมีภารกิจและขอบเขตอย่างไร  จะต้องทราบว่าตนเองมีหน้าที่การงานอย่างไรเพื่อปฏิบัติงานให้ สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน สำหรับในกิจการเล็กๆที่ยังไม่มีรูปแบบ หรือระบบที่ดี ก็อาจไม่มีการเขียนไว้เป็นหลักฐานแล้วแต่นายจ้างหรือหัวหน้างานจะสั่งหรือมอบหมายเป็นคราวๆไป แต่เมื่อองค์การใหญ่ขึ้น พัฒนาการต่างๆมีมากขึ้น การเขียนหน้าที่การงานของแต่ละคนก็มีความจำเป็นมากขึ้น เพราะไม่มีใครจะจำหน้าที่การงานได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีหลักฐานระบุหน้าที่การงานไว้ซึ่งหน้าที่การงานนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยตามความจำเป็น

                การวิเคราะห์งานทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งและผู้บังคับบัญชารู้ชัดในหน้าที่ที่มอบหมายให้ทำ เป็นเครื่องมือช่วยในการควบคุมงานให้บรรลุผลสำเร็จและช่วยประสานงานให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี หากพิจารณาถึงความสำคัญของการวิเคราะห์งานที่มีต่อการบริหารงานขององค์การและผู้เกี่ยวข้องสามารถจำแนกได้ดังนี้

1. ช่วยในการบริหารงานขององค์การในเรื่องดังนี้

                1.1. การออกแบบงาน (Job Design)

                1.2. การแยกประเภทงาน (Job Classification)

                1.3. การเพิ่มงาน (Job Enrichment)

                1.4. การขยายงาน (Job Enlargement)

                1.5. การประเมินค่างาน (Job Evaluation)

                1.6. การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management)

                1.7. การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน (Operation Manual)

                1.8. เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจในบทบาทตามตำแหน่งหน้าที่ชัดเจน

2. ช่วยให้ผู้บังคับบัญชารู้และเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้

                2.1. ลักษณะและขอบเขตงานของผู้ใต้บังคับบัญชา

                2.2. การแนะนำให้พนักงานใหม่รู้จัก

                2.3. การมอบหมายงานแก่พนักงาน

                2.4. การประเมินผลการปฏิบัติงาน

                2.5. การย้ายหรือเลื่อนตำแหน่งงาน

                2.6. การควบคุมไม่ให้เกิดงานซับซ้อน

                2.7. การศึกษาหรือเปลี่ยนแปลงของงานที่ปฏิบัติ

3. ช่วยให้พนักงานรู้และเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้

                3.1. ลักษณะและขอบเขตของงานที่ต้องปฏิบัติ

                3.2. แนวทางการปฏิบัติงาน

3.3. การปรับปรุงการปฏิบัติงานของตน โดยเทียบกับผลการปฏิบัติงานกับเอกสารกำหนดลักษณะเฉพาะของผู้ปฏิบัติงาน

ที่มาจาก : การวิเคราะห์งาน โดย สุภาพร พิศาลบุตร


อัพเดทล่าสุด