การตักเตือนเป็นหนังสือ
การตักเตือนเป็นหนังสือ
กฎหมายกำหนดให้หนังสือเตือนมีผลใช้บังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ใช้บังคับขงหนังสือเตือนที่ออกจากที่ลูกจ้างกระทำความผิดครั้งแรกจะมีระยะเวลาที่ลูกจ้างทราบหนังสือเตือนที่ออกหลังจากที่ลูกจ้างกระทำความผิดครั้งแรกจะมีระยะเวลาที่ลูกจ้างทราบหนังสือเตือนจนกระทั่งถึงวันที่กระทำผิดครั้งที่สองน้อยกว่า 1 ปี หรือบางรายหนังสือเตือนอาจไม่มีผลใช้บังคับเลยก็ได้ถ้าลูกจ้างได้กระทำความผิดไว้แต่นายจ้างไม่ทราบจนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาแล้วเกิน 1ปี จึงทราบการกระทำผิดของลูกจ้างนั้นและออกหนังสือเตือน
หนังสือเตือนควรมีข้อความดังนี้
หนังสือเตือนควรมีข้อความครบถ้วนที่จะทำให้ลูกจ้างทราบถึงการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของนายจ้าง และถ้อยคำที่เตือนให้ลูกจ้างทราบในการกระทำ ตลอดจนข้อความอื่นที่จำเป็นด้วย หนังสือเตือนควรมีข้อความดังนี้
- สถานที่ออกหนังสือเตือน
- วัน เดือน ปีที่ออกหนังสือเตือน ซึ่งอาจเป็นวันเดียวกันวันวันที่ลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือวันอื่นที่นายจ้างทราบหรือได้สอบสวนแล้วว่าลูกจ้างได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้น
- ข้อความแสดงการแจ้งต่อตัวลูกจ้างโดยเฉพาะเจาะจง
- ข้อเท็จจริงโดยย่อเกี่ยวกับการกระทำ (ผิด) ของลูกจ้างนั้น ซึ่งควรระบุถึง วัน เดือน ปี เวลา (โดยประมาณ) สถานที่ และพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน
- ข้ออ้างที่ระบุว่าลูกจ้างได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งฉบับใด ข้อใด หรือในเรื่องใด
- ข้อความที่มีลักษณะเป็นการตักเตือน โดยอาจเป็นถ้อยคำเชิงแนะนำ ชี้ชวน ห้ามปราม มิให้ลูกจ้างกระทำการนั้นอีก
- ลายมือชื่อของนายจ้าง หรือผู้ออกหนังสือเตือน
แนวคำพิพากษา
ข้อความในเอกสาร แม้จะมีชื่อว่า “คำเตือน” แต่ใจความเป็นเรื่องที่ลูกจ้างรับสารภาพว่าได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบของบริษัท แล้วบรรยายว่ากระทำอย่างไร เมื่อใด ทำให้บริษัทฯ เสียประโยชน์ เคยถูกหัวหน้าเตือนมาแล้วกี่ครั้งตอนท้ายเป็นคำรับว่า เป็นการกระทำผิดครั้งที่เท่าใด ตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษ ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และรับรองว่าจะไม่ทำตัวเช่นนี้อีก เนื้อความเป็นเรื่องที่ฝ่ายลูกจ้างแสดงข้อเท็จจริงและเจตนาออกมาเป็นหนังสือผู้ใดจะเป็นผู้เขียนข้อความไม่สำคัญข้อสำคัญคือ ไม่มีข้อตอนใดเลยปรากฏว่าเป็นคำเตือนของฝ่ายนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำอีก เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่คำเตือน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 180/2526
ตามคำสั่งของนายจ้างที่ว่า “...อนึ่งบริษัท ขอเตือนพนักงานทุกคนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินให้ใช้ความระมัดระวัง ถ้าเผอเรอก็จะก่อความเสียหายให้แก่ส่วนตัวและบริษัทถ้าทำสูญหายบ่อยๆ แม้จะเป็นการสูญหายโดยสุจริตก็อาจถูกพิจารณาโทษฐานหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน หากพิสูจน์ได้ว่าสูญหายโดยสุจริตก็จะถูกโทษไล่ออก และดำเนินคดีทางอาญาได้” นั้นเป็นประกาศทั่วไป คำสั่งดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการเตือนลูกจ้าง จึงมิใช่หนังสือเตือน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2528
เอกสารที่นายจ้างอ้างเป็นแต่เพียงหนังสือทัณฑ์บนที่ลูกจ้างทำให้ไว้แก่นายจ้างว่าจะแก้ไขตัวเองในเรื่องต่างๆตามที่ระบุไว้ โดยมิได้มีข้อความตอนใดที่แสดงไว้แก่นายจ้างว่าจะแก้ไขตัวเองในเรื่องต่างๆ ตามที่ระบุไว้ โดยมิได้มีข้อความตอนใดที่แสดงว่านายจ้างได้เตือนลูกจ้างในเรื่องที่ลูกจ้างทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในเรื่องใดไว้ เอกสารดังกล่าวจึงขาดลักษณะที่จะถือว่าเป็นคำเตือนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4159/2531
กฎหมายมิได้กำหนดว่าเมื่อนายจ้างออกหนังสือเตือนลูกจ้างแล้ว นายจ้างต้องแจ้งหนังสือเตือนให้ลูกจ้างทราบโดยต้องให้ลูกจ้างลงชื่อรับทราบในหนังสือเตือน หรือต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบโดยวิธีการใด การที่นายจ้างออกหนังสือเตือนและแจ้งให้ลูกจ้างทราบ แม้ลูกจ้างจะไม่ได้ลงชื่อรับทราบในหนังสือเตือน ก็ถือว่าลูกจ้างรับทราบหนังสือเตือนแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2534
กฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดวิธีการแจ้งคำเตือนให้ลูกจ้างทราบไว้ประการใด ถ้าลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือน นายจ้างอาจใช้วิธีการอย่างอื่นได้ เป็นต้นว่า แจ้งด้วยวาจา หรือปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบ การที่ลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งนายจ้างนายจ้างจะลงโทษลูกจ้างเพราะเหตุนี้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560/2530
ลูกจ้างเคยถูกนายจ้างตักเตือนเป็นหนังสือ 2 ครั้ง ครั้งแรกเตือนในเรื่องขาดงานโดยไม่ยื่นใบลาป่วยและมาสาย ครั้งที่สองเตือนในเรื่องข้อความในใบลากิจเป็นเท็จ ก่อนถูกเลิกจ้างลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องการลากิจ การกระทำผิดในครั้งหลังจึงเป็นคนละเรื่องกับคำเตือนทั้งสองครั้งดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510-1511/2531
ความผิดครั้งก่อน เป็นเรื่องลูกจ้างเป็นเรื่องปล่อยนมทิ้งที่พื้นโรงงาน ส่วนครั้งหลัง เป็นเรื่องหลงลืมใส่ไขมันมะพร้าวในการผสมนม จึงเป็นความผิดคนละเหตุ แม้ครั้งแรกนายจ้างจะมีหนังสือเตือนลูกจ้างแล้วก็ตาม นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากทำความผิดครั้งหลัง ต้องจ่ายค่าชดเชย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2790/2527
ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม
โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ