การฝ่าฝืนข้อบังคับฯ : กรณีร้ายแรง
การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง
กรณีร้ายแรง
การที่ลูกจ้างทั้งสองซึ่งเป็นยามดื่มสุราในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ อาจทำให้การปฏิบัติงานผิดพลาดหรือบกพร่องได้โดยง่ายเพราะขาดสติสัมปชัญญะ ซึ่งอาจก่อนให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่ทั้งบริษัทผู้เป็นนายจ้างและแก่ผู้ที่จ้างบริษัทให้รักษาความปลอดภัยให้ได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง การที่ลูกจ้างดังกล่าวดื่มสุราถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาฎีกา 1416/2525
การตอกบัตรลงเวลาทำงานแทนพนักงานอื่นโดยไม่ตรงกับความเป็นจริงอันอาจทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างและอาจต้องจ่ายรางวัลการทำงานแก่พนักงานผู้นั้นมากว่าความเป็นจริง แม้การกระทำดังกล่าวผู้กระทำไม่ได้รับประโยชน์ก็ตามก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาฎีกา 2658/2525
การที่นายจ้างยุบหน่วยงานที่ลูกจ้างประจำอยู่เพราะมีความจำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของนายจ้างนั้น นายจ้างย่อมมีอำนาจโดยชอบที่จะจัดให้ลูกจ้างเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมต่อไป ลูกจ้างจะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งโดยอ้างเหตุว่าเงินเดือนต่ำกว่าที่เคยได้รับหาได้ไม่ เพราะเป็นกรณีที่ไม่เกี่ยวเนื่องกันการที่ลูกจ้างไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายจ้างถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาฎีกา 3572/2525
ลูกจ้างเปิดบัญชีเงินฝากกับนายจ้างและเปิดบัญชีไว้กับธนาคารทหารไทย ลูกจ้างสั่งจ่ายเช็คเข้าธนาคารทหารไทยและมีเช็คของผู้อื่นด้วยฝากเข้าบัญชีลูกจ้างในธนาคารของนายจ้างแล้วถอนเงินออกไปทันที โดยที่ยังไม่ทราบว่าเช็คที่นำเข้ามาฝากนั้นเรียกเก็บเงินได้หรือไม่ กรณีเช่นนี้ลูกจ้างทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้างอย่างร้ายแรง
คำพิพากษาฎีกา 830/2526
ลูกจ้างนำตัวเหี้ยไปผูกที่ต้นปาล์มหน้าโรงงานและปิดประกาศมีข้อความหยาบคาย ด่าดูหมิ่นเหยียดหยาม ขับไล่ผู้บังคับบัญชาอันเป็นการไม่เคารพและแสดงความประพฤติในทางเสื่อมทรามของลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาฎีกา 1507/2526
ลูกจ้างได้ยืนสูบบุหรี่ข้างๆ กองกล่องกระดาษ ซึ่งมีกล่องกระดาษเป็นจำนวนมากและนายจ้างได้มีคำสั่งสูบบุหรี่ในบริเวณโรงงานและได้วางมาตรการป้องกันเพลิงไหม้อย่างเข้มแข็งเนื่องจากโรงงานของนายจ้างได้เคยถูกไฟไหม้เสียหายนับล้านบาทมาแล้ว การฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างที่ห้ามสูบบุหรี่ในกรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาฎีกา 3495/2526
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของลูกจ้างได้สอบถามลูกจ้างในเรื่องที่ลูกจ้างไม่ทำงานและยุยงคนอื่นไม่ให้ทำงาน ลูกจ้างดังกล่าวได้ด่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลด้วยถ้อยคำหยาบคาย ท้าทาย ชวนชกต่อยและดึงแขนผู้จัดการฝ่ายบุคคลต่อหน้าคนอื่นในระหว่างอยู่ในที่ทำงาน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง
คำพิพากษาฎีกา 5810/2533