ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง


1,385 ผู้ชม


ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง




ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

เหตุเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (1) นี้มี 2 ข้อ คือ ทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

ทุจริตต่อหน้าที่ หมายถึง การแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวลูกจ้างเองหรือผู้อื่น ทั้งนี้โดยลูกจ้างนั้นได้อาศัยโอกาสที่ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่นั้นเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์หรือเป็นช่องทางในการรับประโยชน์ และประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับจะต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน หรือทำให้นายจ้างต้องเสียหายจากการแสวงหาหรือการได้รับประโยชน์นั้น

คำพิพากษาฎีกา 2563/2525 ลูกจ้างเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักทั้งๆที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีสิทธิจะเบิกและได้รับเงินดังกล่าวไป เป็นการทุจริตต่อหน้าที่

คำพิพากษาฎีกา 2597/2525 ลูกจ้างรับเงินประกันความเสียหายในการเข้าทำงานของผู้สมัครงาน แล้วไม่นำส่งเงินส่งนายจ้างตามระเบียบ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่

กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง  หมายถึง  ลูกจ้างได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญาโดยตั้งใจจะกระทำต่อตัวนายจ้าง หรือต่อบุคคลที่ถือว่าเป็นนายจ้างหรือต่อกิจการของนายจ้าง ไม่ว่าลูกจ้างจะได้กระทำความผิดอาญานั้นในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนก็ตาม

คำพิพากษาฎีกา 459/2526  ลูกจ้างมีส่วนรู้เห็นโดยตลอดในการที่ลูกจ้างอีกคนหนึ่งเรียกเงินจากบุคคลภายนอกแล้วไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวส่งให้แก่นายจ้างตามระเบียบทั้งยังรายงานปกปิดความจริง เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดแม้ไม่ใช่ตัวการก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

คำพิพากษาฎีกา 3026/2530  ลูกจ้างเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ป้องกันรักษาทรัพย์สินของนายจ้าง แต่ลุกจ้างรู้เห็นตั้งแต่แรกว่าพวกของลูกจ้างจะลักเบียร์ของนายจ้าง ลูกจ้างก็มิได้ห้ามปราม ครั้นพวกของลูกจ้างลักเบียร์ได้ ลูกจ้างก็ได้ร่วมดื่มเบียร์นั้นด้วย  การกระทำของลูกจ้างเป็นการร่วมรู้เห็นเป็นในตั้งแต่ต้นและมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้

อัพเดทล่าสุด