ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง


674 ผู้ชม


ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง




ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

 

หนังสือเตือนให้มีผลใช้บังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำความผิด

เหตุเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (4) ดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่นายจ้างได้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดและลูกจ้างมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างนั้น ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ในการฝ่าฝืน (กระทำผิด) ครั้งแรกของลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างต้องตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อนครั้งหนึ่งและเมื่อลูกจ้างได้กระทำผิดในเรื่องเดียวกันนั้นอีกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้กระทำความผิดครั้งแรก นายจ้างจึงจะเลิกจ้างลูกจ้างนั้นโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ดังนั้นข้อยกเว้นนี้หมายถึงกรณีที่ลูกจ้างกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืน

  1. ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งนายจ้าง ได้ทำเป็นหนังสือและประกาศให้ลูกจ้างทราบพร้อมทั้งส่งนำเนาให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบายกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมายตามมาตรา 108 แล้ว
  2. ระเบียบ ซึ่งนายจ้างได้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับลูกจ้างในการทำงานให้แก่นายจ้าง ระเบียบดังกล่าวนายจ้างอาจกำหนดด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือระเบียบที่เป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องกันตลอดมาจนเป็นที่รู้ทั่วกัน
  3. คำสั่ง  ซึ่งนายจ้างได้สั่งให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดกระทำการตามหน้าและลูกจ้างได้ทราบคำสั่งนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งด้วยวาจาหรือคำสั่งเป็นหนังสือก็ตาม

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งนั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมต่อลูกจ้างด้วย ถ้าหากข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

คำพิพากษาฎีกาที่ 3503/2527  นายจ้างออกคำสั่งกำหนดให้ครูซึ่งเป็นลูกจ้างที่จะไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องยื่นใบลาออกจากการเป็นครูก่อน โดยนายจ้างอ้างว่าเพื่อไม่ให้โรงเรียนของนายจ้างขาดครูสอนตอนกลางปี ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิที่จะแสวงหาความก้าวหน้าของลูกจ้างเกินกว่าความจำเป็นของนายจ้าง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1179/2540   ลูกจ้างเข้าทำงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2522 นายจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานทอผ้าในแผนกทอผ้าตลอดมา นายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างไปปฏิบัติงานที่แผนกสวัสดิการทั่วไป มีหน้าที่ตักขยะ ตักเศษด้ายขึ้นจากท้องร่องรอบๆ โรงงานและกวาดขยะเน่าในโกดัง ซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะแตกต่างจากที่ลูกจ้างได้ปฏิบัติหน้าที่เดิมที่แผนกทอผ้ามาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานในส่วนสำคัญและเป็นการย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ต่ำกว่าเดิม จึงเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม แม้ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามโดยนายจ้างได้ตักเตือนแล้วก็ตาม กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง

อัพเดทล่าสุด