จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย


1,114 ผู้ชม


จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย




จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

 

เหตุเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (2) คือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ซึ่งหมายถึง การกระทำใดๆ ที่ลูกจ้างประสงค์จะให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นจริงตามความประสงค์ของลูกจ้างแล้วหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่านายจ้างจะได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใดก็ตาม

โดยปกติการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนั้นจะเป็นความผิดในทางอาญาด้วย เช่น ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของนายจ้างก็จะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ทำความเสียหายแก่ชื่อเสียงของนายจ้างก็จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นซึ่งหน้าเป็นต้น  คำว่า “จงใจ” น่าจะหมายถึงเฉพาะ “เจตนาโดยประสงค์ต่อผล” เท่านั้น

คำพิพากษาฎีกา 2156/2525 ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานได้สั่งให้ลูกจ้างอื่นเข้าไปในห้องพักคนงานโดยไม่ยอมให้ลูกจ้างนั้นออกมาทำงานจนนายจ้างต้องจัดหาคนเข้าทำงานแทน  ถือว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาฎีกา 3986/2528  ลูกจ้างกับพวกนัดหยุดงานเพื่อประท้วงนายจ้างโดยไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  นอกจากจะเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 139 แล้วยังมีผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของนายจ้างมิให้เนินไปได้ตามปกติ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย


อัพเดทล่าสุด