การฝ่าฝืนข้อบังคับฯ : กรณีไม่ร้ายแรง


766 ผู้ชม


การฝ่าฝืนข้อบังคับฯ : กรณีไม่ร้ายแรง




การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง

กรณีไม่ร้ายแรง

การเล่นแชร์ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ไม่ถือเป็นกรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาฎีกา 2448/2523

ลูกจ้างมาทำงานสายและกระทำการอันไม่สมควรต่อนายจ้างออกหนังสือเตือน ลูกจ้างไม่ลงนามรับทราบหนังสือเตือน การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ไม่ร้ายแรง

คำพิพากษาฎีกา  3999/2524

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดไว้เฉพาะว่าพนักงานที่มีหน้าที่ต้องต้อนรับแขกหรือบริการแขก หากมีอาการมึนเมาจะถือว่าเป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรง  ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล ไม่ใช่พนักงานซึ่งมีหน้าที่ดังกล่าวแม้จะฟังว่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลมีหน้าที่รับแขกที่มาติดต่อกับแผนกบุคคลก็ไม่ถือว่ามีหน้าที่ต้อนรับหรือบริการขากของนายจ้างซึ่งเป็นกิจการโรงแรมโดยตรง การที่ลูกจ้างกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีนี้จึงไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาฎีกา  2247/2525

ลูกจ้างใช้เพื่อนร่วมงานตอกบัตรลงเวลาทำงานแทน ในขณะที่ตนกำลังซื้อข้าวอยู่และได้เข้าทำงานก่อนเวลาทำงานปกติ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ไม่ร้ายแรง

คำพิพากษาฎีกา 541/2536

การที่ลูกจ้างกล่าวต่อผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ซึ่งเป็นหญิงว่า “อีหัวล้าน” นั้น มิได้กล่าววาจาหรือแสดงกิริยาอื่นใดอีกเป็นเพียงคำกล่าวด้วยอารมณ์ผิดหวังและไม่พอใจเนื่องจากการที่นายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้างในวันที่จ่ายค่าจ้างไม่ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง

คำพิพากษาฎีกาที่  2411/2537

การที่ลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถส่งของ ได้ตอกบัตรบันทึกเวลาทำงานของเด็กท้ายรถที่ลูกจ้างขับ เพื่อแสดงเวลากลับจากที่ทำงานของเด็กท้ายรถดังกล่าวซึ่งไม่ได้กลับไปที่ทำงานโดยได้ลงจากรถส่งของระหว่างทางซึ่งในวันดังกล่าวเด็กท้ายรถได้ทำงานจนสิ้นสุดเวลาทำงานปกติแล้ว การตอกบัตรดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่เด็กท้ายรถ และไม่ปรากฏว่านายจ้างได้รับความเสียหายอย่างใดๆ จึงไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาฎีกา2980/2537

ลูกจ้างมาทำงาน 8 -17 น. การที่ลูกจ้างลงเวลามาทำงานหรือเลิกงานตามเวลาโดยมีนายท่ารถโดยสารที่ลูกจ้างทำงานอยู่ลงชื่อกำกับความถูกต้องทุกวัน แสดงว่านายจ้างไม่ถือว่าการลงเวลามาทำงานและการเลิกงานเป็นสาระสำคัญทั้งไม่ปรากฏว่าลูกจ้างถูกหักค่าจ้างจากการที่มาทำงานสายและเลิกก่อนเวลา จึงไม่ใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง

คำพิพากษาฎีกา 5959/2537

ลูกจ้างได้ด่าว่าผู้บังคับบัญชาของตนว่า “ตอแหล” ต่อหน้าพนักงานพนักงานอื่นในสถานที่ทำงานขณะที่ผู้บังคับบัญชาสั่งห้ามพนักงานพูดเสียงดัง การที่ลูกจ้างด่าโดยใช้ถ้อยคำดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่าเป็นคนพูดเท็จอันเป็นการแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาด้วยการใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยามก้าวร้าว เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างซึ่งได้จัดไว้ในหัวข้อเรื่องวินัยและความประพฤติทั่วไปของพนักงานทั่วไปแยกต่างหากจากหัวข้อเรื่องความผิดร้ายแรง ซึ่งได้ระบุการกระทำที่เป็นความผิดร้ายแรงไว้โดยเฉพาะซึ่งแสดงว่านายจ้างมิได้ถือว่าการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเป็นความผิดกรณีร้ายแรงแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อปรับการกระทำของลูกจ้างกับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนายจ้างดังกล่าวแล้ว การกระทำของลูกจ้างเป็นเพียงการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีทั่วไป ไม่ใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรงนายจ้างเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาฎีกา 3184/2540

ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด