กฎหมายแรงงาน : การพักงาน


966 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การพักงาน




กฎหมายแรงงาน : การพักงาน

 

 

มาตรา 116 ในกรณีที่นายจ้างทำการสอบสวนลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างการสอบสวนดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้อำนาจนายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างได้ ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องมีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานได้ไม่เกินเจ็ดวันโดยจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงาน

ในระหว่างการพักงานตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน

มาตรา 117   เมื่อการสอบสวนเสร็จแล้ว ปรากฎว่าลูกจ้างไม่มีความผิด ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานนับแต่วันที่ลูกจ้างถูกสั่งพักงาน เป็นต้นไป โดยให้คำนวณเงินที่นายจ้างจ่ายตามมาตรา 116 เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามมาตรานี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี

บทบัญญัติข้างต้นมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นายจ้างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางวินัย สั่งพักงานลูกจ้างในระยะเวลายาวนานโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก (เท่าที่ผ่านมามีนายจ้างได้สั่งพักงานลูกจ้างเพื่อทำการสอบสวนเป็นเวลาถึง 2 ปีบ้าง 4 ปีบ้าง บางรายสั่งพักงานตั้งแต่การสอบสวนเป็นต้นไปจนกว่าจะคดีจะถึงที่สุด ซึ่งในระหว่างการสอบสวนดังกล่าวนั้น นายจ้างก็มิได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง นับว่าเป็นที่เดือนร้อนแก่ลูกจ้างเป็นอันมาก) บทมาตราดังกล่าวจะเป็นการคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้นายจ้างสั่งพักงานเพื่อสอบสวนความผิดทางวินัยลูกจ้างนายเกินไปโดยกำหนดไว้ว่า นายจ้างจะสั่งพักงานลูกจ้างได้ต่อเมื่อ

1.     ลูกจ้างนั้นได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด (วินัยในการทำงาน)

2.     นายจ้างประสงค์จะทำการสอบสวนลูกจ้างและพักงานลูกจ้างนั้น

3.     มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่านายจ้างมีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างได้

4.     นายจ้างได้มีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานซึ่งต้องไม่เกิน 7 วัน และ

5.     นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงานนั้นแล้ว

ในระหว่างพักงานนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างในวันทำงาน

ถ้าการสอบสวนเสร็จสิ้นลงแล้วไม่ปรากฏว่าลูกจ้างมีความผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างการพักงาน 7 วันนั้น (โดยหักเงินค่าจ้างส่วนที่จ่ายไปแล้วออกได้) พร้อมทั้งจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีด้วย

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว นายจ้างที่รอบคอบคงจะไม่สั่งพักงานลูกจ้างเพื่อสอบสวนลูกจ้างว่ากระทำความผิดหรือมไม่ นายจ้างควรสอบสวนลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไปโดยไม่ต้องสั่งพักงาน หรือถ้านายจ้างไม่ประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานในระหว่างการสอบสวน นายจ้างก็อาจจะสั่งให้ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานและนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้น หรือหากนายจ้างไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานอยู่ในหน้าที่เดิม นายจ้างก็มีอำนาจโดยชอบในทางการบริหารงานบุคคลที่จะย้ายลูกจ้างไปทำงานในหน้าที่อื่นเป็นการชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนนั้นได้

ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม
โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด