กฎหมายแรงงาน : การจ่ายเงินกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการ


868 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การจ่ายเงินกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการ




กฎหมายแรงงาน : การจ่ายเงินกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการ

 

มาตรา 75   ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

 

ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง

                บทบัญญัติเรื่องนี้ได้กำหนดขึ้นใหม่เพื่อกำหนดหน้าที่ของนายจ้างในกรณีที่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุต่างๆที่มิใช่เหตุสุดวิสัย เช่น เครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการชำรุด วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตขาดแคลนชั่วคราว สถานประกอบกิจการของนายจ้างถูกไฟไหม้บางส่วนหรือทั้งหมดจาความประมาทเลินเล่อของคนงาน โรงงานหรือสถานประกอบการของนายจ้างถูกน้ำท่วมตามฤดูกาลจนนายจ้างไม่สามารถที่จะประกอบกิจการได้ เป็นต้น โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตลอดเวลาที่นายจ้างหยุดกิจการนั้น ซึ่งเงินจำนวนนี้จะเรียกว่า “เงินกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการ” ก็ได้ หรือจะเรียกว่า “ค่าจ้างระหว่างหยุดงาน”ก็ได้ ตามแนวคำพิพากษาฎีกาเดิม  กรณีที่โรงงานของนายจ้างถูกน้ำท่วมไม่สามารถประกอบกิจการได้ชั่วคราว หรือกรณีที่โรงงานของนายจ้างถูกไฟไหม้ต้องหยุดซ่อมแซมชั่วคราวนั้นคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเต็มหรือเสมือนหนึ่งมาทำงานตามปกติเพราะนายจ้างมีหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้าง การที่โรงงานไฟไหม้หรือน้ำท่วมไม่เป็นเหตุยกเว้นใดๆ ที่นายจ้างจะจ่ายอันเป็นหน้าที่ของนายจ้างไม่ได้  การที่มาตรา 75 กำหนดไว้เช่นนี้ก็มีลักษณะทำนองเป็นการพบกันครึ่งทาง บทบัญญัติเช่นว่านี้มีอยู่ในกฎหมายต่างประเทศ เช่นในกฎหมายแรงงานของประเทศญี่ปุ่นจะกำหนดให้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง เท่ากับร้อยละ 60 ของค่าจ้าง ที่ลูกจ้างเคยได้รับในระหว่างที่นายจ้างต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า  เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดีจะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

แต่ถ้านายจ้างต้องหยุดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัย นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้นแต่อย่างใด

ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด