กฎหมายแรงงาน : ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา


2,393 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา




กฎหมายแรงงาน : ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา

 

มาตรา 65  ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มิสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (2) (3) (4) (5) (6) (7) หรือ (8) มีสิทธิได้รับ ค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ

(1)  ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ การลดค่าจ้าง หรือการเลิกจ้าง

(2)  งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวย ความสะดวกแก่การเดินรถ

(3)  งานปิดเปิดประตูน้ำหรือระบายน้ำ

(4)  งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ

(5)  งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ

(6)  งานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้

(7)  งานที่อยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การงานตามปกติของลูกจ้าง

(8)  งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง

มาตรา 66  ลูกจ้างตามมาตรา 65 (1) ไม่มีสิทธิไดรับค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 62 เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง

               

                เมื่อพิจารณาบทบัญญัติข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า มีลูกจ้างอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ประเภทแรก ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเลย ซึ่งได้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 65 (1) และประเภทที่สอง ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดแต่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำซึ่งได้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 65 (2) ถึง (8)

                กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2541) กำหนดให้ งานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินเป็นงานตามมาตรา 65 (8) ด้วย

                ลูกจ้างประเภทแรกที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด กฎหมายระบุว่าลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ การลดค่าจ้าง หรือการเลิกจ้าง ลูกจ้างประเภทนี้โดยปกติแล้วจะทำหน้าที่ในการควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้างอื่น หากลูกจ้างประเภทนี้ได้รับค่าล่วงเวลาก็อาจมีผลทำให้ลูกจ้างประเภทนี้ไม่ดูแลควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้างอื่นให้ทำงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในขณะเดียวกันถ้าตนเองมีสิทธิที่จะได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดด้วย ก็จะทำให้งานของนายจ้างล่าช้าไปได้ อีกประการหนึ่งลูกจ้างดังกล่าวข้างต้น เป็นลูกจ้างประเภทนายจ้างนั่นก็คือได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำการแทนและได้ใช้อำนาจของนายจ้างจึงไม่ควรจะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ความสำคัญอยู่ที่คำว่า “มีอำนาจหน้าที่ทำการแทน” ซึ่งลูกจ้างจะต้องได้รับมอบหมายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือโดยปริยายให้มีอำนาจกระทำการแทนได้โดยเด็ดขาด ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดอีก ลูกจ้างดังกล่าว จะต้องมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการที่จะจ้างบุคคลอื่นเข้าทำงานกับนายจ้างนั้น มีอำนาจที่จะให้บำเหน็จซึ่งได้แก่การขึ้นค่าจ้าง มีอำนาจที่จะสั่งลดค่าจ้างและมีอำนาจที่จะเลิกจ้างลูกจ้างคนใดคนหนึ่งได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบหรืออนุมัติจากผู้ใดก่อน ลูกจ้างประเภทนี้จะไม่ได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดซึ่งในทางปฏิบัติทั่วไปในสถานประกอบกิจการต่างๆ มักจะกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการขัดแย้งต่อบทบัญญัตินี้เสมอมา โดยมักจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในทำนองว่า ลูกจ้างที่อยู่ในฝ่ายจัดการหรือฝ่ายบริหารหรือลูกจ้างที่มีตำแหน่งตั้งแต่ผู้จัดการขึ้นไปไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ซึ่งเป็นการเขียนข้อบังคับขัดกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างตรงไปตรงมา

คำพิพากษาฎีกาที่ 2571/2527  ลูกจ้างที่ไม่สามารถทำการแทนนายจ้างโดยตรงต้องผ่านการพิจารณาของผู้อื่นอีก เช่น ผู้จัดการสาขา หัวหน้าฝ่าย ไม่ใช่ลูกจ้างผู้บังคับบัญชามีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา

คำพิพากษาฎีกาที่ 543/2545  ลูกจ้างทำงานตำแหน่งวิศวกรอาวุโส เป็นผู้ให้ความเห็นในใบแจ้งการลาออกของพนักงาน และเป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานก่อนนำเสนอผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ ลูกจ้างไม่อาจอนุมัติให้พนักงานลาออกหรือให้บำเหน็จได้โดยตรง ต้องมีการเสนอความเห็นผ่านผู้บังคับบัญชาอีกชั้นหนึ่งก่อน จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้างกรณีเลิกจ้างหรือให้บำเหน็จอันต้องห้ามมิให้ได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 65 (1)

ส่วนลูกจ้างประเภทที่สองซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 65 (2) ถึง (8) นั้น ถ้าลูกจ้างดังกล่าวมาทำงานในวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในวันหยุดหรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุด กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวนหนึ่งตามตัวบทใช้คำว่า ค่าตอบแทน” โดยจ่ายให้เท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง (แทนที่จะได้เป็นค่าล่วงเวลาหนึ่งเท่าครึ่งของค่าจ้าง  คงได้เป็นค่าตอบแทนหนึ่งเท่าของค่าจ้างแทน)

ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ลูกจ้างดังกล่าวอยู่แล้ว  นายจ้างก็ต้องจ่ายไปตามนั้น จะยกเลิกเสียมิได้ นายจ้างที่ฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวนี้มีความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 146

ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ

อัพเดทล่าสุด