กฎหมายแรงงาน : การจ่ายค่าทำงานในวันหยุด


971 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การจ่ายค่าทำงานในวันหยุด




กฎหมายแรงงาน : การจ่ายค่าทำงานในวันหยุด

 

 

 

มาตรา 62   ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้

(1)  สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวนทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(2)  สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

บทบัญญัติข้างต้นแสดงว่า ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ ค่าทำงานในวันหยุดมี 2 อัตรา คือ

1.     ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดจะได้ค่าทำงานในวันหยุด 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วย ซึ่งได้แก่กรณีที่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายเดือนมาทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี และลูกจ้างทุกประเภทที่มาทำงานในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปี

2.     ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด จะได้ค่าทำงานในวันหยุด เป็น 2 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วย ซึ่งได้แก่กรณีที่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยมาทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์

คำว่า  1 เท่า หรือ 2 เท่า ตามมาตรานี้หมายถึง คูณด้วย 1 หรือคูณด้วย 2 เช่น ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันละ 200 บาท ถ้านายจ้างให้มาทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ซึ่งในวันหยุดประจำสัปดาห์นั้น นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายวัน (มาตรา 56 ) เมื่อให้ลูกจ้างรายวันมาทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ก็จะได้ค่าทำงานในวันหยุด 2 เท่า หมายถึง 200 คูณด้วย 2 เท่ากับ 400 บาท แต่ถ้าลูกจ้างรายวันนั้นนายจ้างให้มาทำงานในวันหยุดตามประเพณีอยู่แล้ว (ตามมาตรา 56) ในวันหยุดตามประเพณีนั้นแม้ลูกจ้างไม่ได้มาทำงาน นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายวันนั้นเท่ากับ 200 บาท ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างรายวันมาทำงานในวันหยุดตามประเพณีก็จะได้ค่าทำงานในวันหยุดหนึ่งเท่าของค่าจ้างปกติก็เท่ากับ 200 บาท คูณด้วย 1 เท่ากับ 200 บาท

อัตราค่าทำงานในวันหยุดตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้เป็นอัตราขั้นต่ำ ถ้านายจ้างได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดในอัตราที่สูงกว่านั้นอยู่แล้วโดยข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือนายจ้างจ่ายให้เองไม่ว่าจะจ่ายให้เองโดยเข้าในกฎหมายผิดไปหรือจ่ายให้เพราะอยากจะให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุด นายจ้างก็จ่ายอัตรานั้นตลอดไป (มาตรา 74)

นายจ้างที่ฝ่าฝืนมาตรา 62 และมาตรา 74 มีความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 144


อัพเดทล่าสุด