กฎหมายแรงงาน : การจ่ายค่าจ้างในวันลา


1,077 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การจ่ายค่าจ้างในวันลา




กฎหมายแรงงาน : การจ่ายค่าจ้างในวันลา

 

 

 

มาตรา 57   ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยได้ตามมาตรา 32 เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน

                ในกรณีที่ลูกจ้างใช้สิทธิลาเพื่อทำหมันตามมาตรา 33 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลานั้นด้วย

มาตรา 58  ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารตามมาตรา 35 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินหกสิบวัน

มาตรา 59  ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน

                เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติข้างต้นมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ได้ใช้สิทธิลาป่วย ลาเพื่อทำหมัน ลาเพื่อรับราชการทหาร และลาเพื่อคลอดบุตร ไม่ต้องสูญเสียรายได้เพราะเหตุการลาดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ได้กำหนดจำนวนวันไว้ด้วย  การลาป่วยนั้นแม้ลูกจ้างจะมีสิทธิลาป่วยได้ตลอดไปเท่าที่ป่วยจริง แต่คงได้ค่าจ้างเฉพาะ 30 วันทำงานแรกต่อปีเท่านั้น ลูกจ้างที่ใช้สิทธิลาเพื่อทำหมัน หรือลาเนื่องจากการทำหมันก็จะได้ค่าจ้างเฉพาะวันที่แพทย์กำหนดและออกใบรับรองว่าจะลาได้กี่วันเท่านั้น

               

                วันลาเพื่อรับราชการทหารนั้นลูกจ้างคงได้ค่าจ้างเพียง 60 วันแรกของการลาในแต่ละปี และลูกจ้างที่ใช้สิทธิลาเพื่อคลอดบุตรก็จะได้ค่าจ้างเพียง 45 วันแรกของการลาในแต่ละครรภ์เท่านั้น ส่วนการลากิจก็ดี ลาเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความสามารถก็ดี  กฎหมายมิได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง แต่วันเพื่อเข้าประชุมฯ ของลูกจ้างเด็กตามมาตรา 52 จะได้ค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลา

               

                สำหรับค่าจ้างที่จ่ายในวันลาดังกล่าวข้างต้น กฎหมายใช้คำว่าจ่ายเท่ากับ “ค่าจ้างในวันทำงาน” ซึ่งมีคำนิยามอยู่ในมาตรา 5 ว่า

                ค่าจ้างในวันทำงาน หมายความว่า ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ

               

                โดยแท้จริงแล้ว เจตนารมณ์ ของการจ่ายค่าจ้างในวันลาก็เพื่อให้ลูกจ้างที่ใช้สิทธิลาป่วย ลาเพื่อทำหมัน ลาเพื่อรับราชการทหาร  หรือลาเพื่อคลอดบุตร ไม่สูญเสียรายได้เท่าที่เคยได้รับอยู่ (หรือเท่ากับลูกจ้างไม่ได้ลาและมาทำงานปกตินั่นเอง)

ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด