กฎหมายแรงงาน : ค่าจ้าง
ค่าจ้าง
“ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้”
(มาตรา 5)
คำว่าค่าจ้างดังกล่าวข้างต้นพอจะแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. ค่าจ้างจะต้องเป็นเงิน เท่านั้น ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดิม ค่าจ้างรวมถึงสิ่งของด้วย ดังนั้น ต่อไปนี้สิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างจะไม่นำมาคำนวณรวมเป็นค่าจ้าง
2. นายจ้างและลูกจ้างตกลงกำหนดจำนวนเงินกัน ส่วนตกลงกันอย่างไรนั้นก็ต้องพิจารณาถ้อยคำต่อไปนี้ คือ ตกลงกัน “ตามสัญญาจ้าง” คำว่าสัญญาจ้างนั้น มาตรา 5 บัญญัติว่า
สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจนหรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานงานให้
ดังนั้น จำนวนเงินประเภทใดที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงไว้ให้เป็นค่าจ้างในสัญญาจ้าง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือวาจาก็ตามก็เฉพาะจำนวนเงินนั้นเท่านั้นที่ถือว่าเป็นค่าจ้าง
3. จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ซึ่งหมายถึงเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานเท่านั้น ถ้าจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่น เช่น จ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในเรื่องที่พักอาศัย (ค่าเช่าบ้าน) จ่ายเพื่อช่วยเหลือการศึกษาของบุตรลูกจ้าง (ค่าเล่าเรียน) เงินจำนวนนั้นต้องถือว่าไม่ใช่ค่าจ้างเพราะไม่ได้ตอบแทนการทำงานโดยตรง
4. ค่าจ้างจะต้องตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาทำงานปกติ ซึ่งหมายถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้เฉพาะที่ตอบแทนการทำงานในช่วงระยะเวลาทำงานปกติที่นายจ้างได้กำหนดไว้ตามมาตรา 23 ส่วนเงินที่ตอบแทนการทำงานในช่วงระยะเวลาอื่น (เช่นหลังเวลาเลิกงานแล้วหรือก่อนเวลาเข้าทำงานหรือในวันหยุด) เงินจำนวนนั้นก็ไม่ใช่ค่าจ้าง แต่อาจจะเป็นเงินประเภทที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นต้น
การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างนั้นมี 2 ประเภท คือ
- การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานโดยถือระยะเวลาเป็นสำคัญ (Time rate) หมายถึงการจ่ายค่าจ้างที่ถือหน่วยระยะเวลาเป็นหลักในการคำนวณ ทั้งนี้ไม่ว่าลูกจ้างจะทำงานได้ผลงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าระยะเวลาที่จะจ่ายกันนั้น อาจจะเป็นการกำหนดเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ คำว่า “ระยะเวลาอย่างอื่น” นั้นสมัยโบราณมีการจ้างเป็นรายปักษ์ หรือรายไตรมาส (สามเดือน) หรือรายปี เป็นอาทิ
- การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานโดยถือตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้เป็นสำคัญ (piece rate) หมายถึงการจ่ายค่าจ้างที่ถือผลงานแต่ละหน่วยที่ลูกจ้างทำได้เป็นหลักในการคำนวณทั้งนี้ ไม่ว่าลูกจ้างจะใช้ระยะเวลาในการทำงานนานเท่าใดก็ตาม เมื่อลูกจ้างได้ผลงานออกมาเท่าใดก็จะคำนวณค่าจ้างไปตามจำนวนนับของผลงานนั้น เช่น การกำหนดค่าจ้างในการทำงานต่อโต๊ะเป็นตัว เป่าแก้วเป็นโหล เย็บเสื้อผ้าเป็นกุรุส เป็นต้น (การจ่ายค่าจ้างตามผลงานมักจะมีความสับสนในการปฏิบัติตามกฎหมายค่อนข้างมาก)
เนื่องจากคำนิยามตามกฎหมายฉบับใหม่แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมเป็นอันมาก ดังนั้นคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่าเงินประเภทใดเป็น “ค่าจ้าง” หรือไม่นั้น ยังไม่แน่ว่าจะนำมาใช้ในบทบัญญัติตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากตามกฎหมายฉบับเดิมนั้น ได้บัญญัติไว้ว่า “ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” ซึ่งทำให้เงินเกือบทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็น “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไปด้วย แต่กฎหมายฉบับใหม่มิได้มีบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ในขณะเดียวกันก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างจึงน่าจะหมายถึงเงินที่นายจ้างตกลงกันจำนวนใดจำนวนหนึ่งเท่านั้นไม่รวมถึงเงินประเภทต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อการศึกษาและเพื่อประกอบการวินิจฉัยในกรณีไม่ปรากฏว่ามีการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จึงขอนำแนวคำพิพากษาฎีกาสั้นๆ ที่ได้วินิจฉัยว่าเงินประเภทใดเป็นค่าจ้างหรือไม่เป็นค่าจ้างมากล่าวให้ปรากฏไว้ด้วย
เงินที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ ถือเป็นค่าจ้าง
- เบี้ยเลี้ยง ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1776/2526 , 1328/2527 , 2763/2529 , 1204/2527 และ 29/2529 เป็นต้น
- ค่าตรองชีพ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2029/2523 , 416-518/2524 และ 1469/2524 เป็นต้น
- เงินค่านายหน้าหรือเงินประเภทเดียวกัน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2155/2520 , 3724/2537 , 513/2524 และ 3693 – 3695 / 2525 เป็นต้น
- ค่าพาหนะและเงินประเภทเดียวกัน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 172/2524 , 513/2524 และ 2386/2527 เป็นต้น
- ค่าน้ำมันรถ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3173/2528
- เงินพิเศษต่างๆ คือ เงินรางวัลพิเศษ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 747-768/2524 เงินเพิ่มพิเศษทางทะเลและเงินเพิ่มพิเศษค่าเข้าผลัดหมุนเวียนรอบกลางคืนตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1437/2524 เงินพิเศษผู้ปฏิบัติงานกะ คำพิพากษาฎีกาที่ 2770/2528 ค่านำร่องพิเศษ คำพิพากษาฎีกาที่ 3265-3284/2525 ค่าเบี้ยกิโลเมตร ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4888-4889/2536 เงินค่าบริการหรือเซอร์วิสชาร์จ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 7287/2537 และ 6349/2541
เงินที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ ไม่ว่าถือเป็นค่าจ้าง
1. เงินค่าเช่าบ้าน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 172/2524 เงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านคำพิพากษาฎีกาที่ 1437/2524 ค่าพักอาศัย ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3964/2528 เงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4086-4087/2528
2. เงินรางวัลหรือโบนัส ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2121/2529 , 4047/2529 และ 4545-5565/2544 เป็นต้น
3. เงินเพิ่มจูงใจ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3728/2524
4. เบี้ยขยัน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 958-971/2527
5. ค่าพาหนะ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2377/2526 ค่าจอดรถ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3802/2527 ค่าน้ำมันรถ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2601/2526 และ 2121/2529 ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2121/2529
6. เงินสะสมส่วนที่นายจ้างสมทบให้ลูกจ้าง ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2090/2529 และ2121/2529
7. เงินค่าภาษีเงินได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2121/2529
8. เงินช่วยเหลือบุตร ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1982/2531
9. ค่าอาหาร ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 7287/2537