กฎหมายแรงงาน : การใช้แรงงานเด็ก


1,265 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การใช้แรงงานเด็ก




กฎหมายแรงงาน : การใช้แรงงานเด็ก

 

 

มาตรา 44  ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบหาปีเป็นลูกจ้าง

มาตรา 45  ในกรณีที่มีการจ้างเด็กต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างปฏิบัติดังนี้

(1)  แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน

(2)  จัดทำบันทึกสภาพการจ้างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ในเวลาทำการ

(3)  แจ้งการสิ้นสุดของการจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เด็กออกจากงาน

การจ้างหรือการจัดทำบันทึกตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

มาตรา 46 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกินสี่ชั่วโมง แต่ในสี่ชั่วโมงนั้นให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กได้มีเวลาพักตามที่นายจ้างกำหนด

                มาตรา 47 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 น. เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

                นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นผู้แสดงภาพยนตร์ละครหรือการแสดงอย่างอื่นที่คล้ายคลึงกันทำงานในระหว่างเวลาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ให้นายจ้างจัดให้มีลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นได้พักผ่อนตามสมควร

               

                มาตรา 48  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1)  งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ

(2)  งานปั๊มโลหะ

(3)  งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติ อันอาจเป็นอันตรายตามที่

       กำหนดในกฎกระทรวง

(4)  งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(5)  งานเกี่ยวกับจุลชีวันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือเชื้ออื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(6)  งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานีน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(7)  งานขับหรือบังคับรถยกหรือปั้นจั่นตามที่กฎกระทรวง

(8)  งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์

(9)  งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ อุโมงค์ หรือปล่อยในภูเขา

(10) งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(11) งานทำความสะอาดเครื่องจักกรหรือเครื่องยนต์ขณะที่เครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กำลังทำงาน

(12) งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป

(13) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 50  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในสถานที่ดังต่อไปนี้

(1)   โรงฆ่าสัตว์

(2)   สถานที่เล่นการพนัน

(3)   สถานที่เต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง

(4)   สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า หรือโดยมี

        ที่สำหรับพักผ่อนหลับนอนหรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า

(5)   สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 51 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กให้แก่บุคคลอื่น

    ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันเพื่อการใดๆ จากฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก

     ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก บิดามารดาหรือผู้ปกครองของลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กจ่ายหรือรับเงิน หรือประโยชน์ตอบแทนใดๆ เป็นการล่วงหน้าก่อนมีการจ่ายขณะแรกจ้างหรือก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กในแต่ละคราว มิให้ถือว่าเป็นการจ่ายหรือรับค่าจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้น และห้ามมิให้นายจ้างนำเงินหรือประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวมาหักจากค่าจ้างซึ่งต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กตามกำหนดเวลา

              บทบัญญัติในเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ในการที่จะคุ้มครองเด็กซึ่งยังเป็นผู้เยาว์และกำลังจะเติบโตเป็นแรงงานที่สมบูรณ์และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อชาติในวันข้างหน้า การให้ลูกจ้างเด็กทำงานมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ส่วนเสียก็คือทำให้เด็กต้องออกจากการศึกษา ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสพัฒนาสติปัญญาของเด็กนั้น และในขณะเดียวกันเด็กมักจะมีความระมัดระวังในการทำงานน้อยเนื่องจากเยาว์ด้วยอายุ โอกาสที่จะได้รับอันตรายจากการทำงานอันเกี่ยวกับเครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้ก็มีมาก ดังนั้น การคุ้มครองแรงงานเด็กจึงเป็นเรื่องจำเป็น ในทุกประเทศและในสังคมโลกก็มีความสนใจในเรื่องการใช้แรงงานเด็กอย่างยิ่ง

คำว่า เด็ก” ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมายถึง บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ตามบทกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง (มาตรา 44) ในขณะเดียวกันถ้ามีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นลูกจ้าง นายจ้างก็จะต้องแจ้งการจ้างลูกจ้างเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงาน ต้องจัดบันทึกสภาพการจ้างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และต้องแจ้งการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45

นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กมีเวลาพักพิเศษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา  46

นายจ้างจะให้ลูกจ้างเด็กทำงานในระหว่างเวลาวิกาล ( 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 6.00 นาฬิกา)ไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบหมาย หรือเด็กนั้นเป็นผู้ที่แสดงภาพยนตร์หรือละครหรือการแสดงอย่างอื่นดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 47 นอกจากนั้น นายจ้างยังไม่อาจให้ลูกจ้างเด็กทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดด้วย (มาตรา 48)

นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างเด็กทำงานในงานที่อาจเป็นอันตรายตามที่ระบุไว้ในมาตรา 49 นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างเด็กทำงานในสถานที่ที่มีอันตรายต่อจิตใจและความประพฤติของเด็กตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 ด้วย

นอกจากนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2541) ยังได้กำหนดงานซึ่งห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำไว้หลายประเภท ได้แก่ งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน และเสียงอันอาจเป็นอันตรายแก่ลูกจ้างเด็ก  งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตราย วัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟตามที่กำหนด งานขับหรือบังคับ รถยกหรือปั้นจั่นที่ใช้พลังงานเครื่องยนต์หรือไฟฟ้าไม่ว่าการขับหรือบังคับจะกระทำในลักษณะใดและงานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีทุกชนิด ดังนั้น นายจ้างจึงมิอาจให้ลูกจ้างเด็กทำงานในประเภทงานต่างๆ ตามที่กำหมายกำหนดห้ามไว้ได้

กฎหมายยังคุ้มครองเรื่องการจ่ายค่าจ้างโดยนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างเด็กให้แก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ และในขณะเดียวกันไม่ว่าลูกจ้างจะทำงานในหน้าที่ใด กฎหมายก็ห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันเพื่อการใดๆ จากลูกจ้างเด็กดังที่กำหมดไว้ในมาตรา 51 อีกด้วย

อัพเดทล่าสุด