กฎหมายแรงงาน : การคุ้มครองเฉพาะหญิงมีครรภ์
กฎหมายแรงงาน : การคุ้มครองเฉพาะหญิงมีครรภ์
มาตรา 39 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด หรือทำงานอย่างอื่นอย่างใดต่อไปนี้
1.) งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
2.) งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
3.) งานยก แบก หาม ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกินห้าสิบกิโลกรัม
4.) งานที่ต้องทำในเรือ
5.) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 42 ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีใบรับรองแพทย์ของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่างไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ และให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างนั้น
มาตรา 43 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์
บทบัญญัติทั้งสามมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ใน 3 กรณี คือ
1. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานอันอาจเป็นอันตรายต่อการมีครรภ์ตามมาตรา 39
2. ให้นายจ้างเปลี่ยนงานให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์เป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดตามมาตรา 42
3. ห้ามนายจ้างเลิกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ตามมาตรา 43
ข้อที่น่าจะเป็นปัญหาต่อไปก็คือ กฎหมายกำหนดให้การคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ แต่ในขณะเดียวกันการมีครรภ์โดยปกติจะเริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิและส่วนของตัวอ่อนฝังลงไปในมดลูกของหญิงซึ่งในช่วงระยะเวลาต้นๆ ของการมีครรภ์นั้นแม้กระทั่งตัวลูกจ้างหญิงเองก็ยังไม่ทราบตนเองมีครรภ์หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้นายจ้างก็อาจถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรา 39 หรือมาตรา 43 ได้ง่าย โดยเฉพะอย่างยิ่ง การให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานที่ติดตั้งไปกับยานพาหนะ นายจ้างที่มีลูกจ้างหญิงจึงควรประกาศของความร่วมมือจากลูกจ้างหญิงขอให้แจ้งให้นายจ้างทราบทันทีว่าตนมีครรภ์ แต่นายจ้างจะออกคำสั่งกำหนดหรือบังคับให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์รายงานหรือแจ้งต่อนายจ้างทันทีที่ทราบว่าตนมีครรภ์นั้นไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากการมีครรภ์หรือไม่เป็นสิทธิของบุคคลหรือข้อมูลส่วนตัวที่ได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ ลูกจ้างหญิงมีสิทธิที่จะไม่แจ้งให้นายจ้างหรือผู้ใดทราบก็ได้ นายจ้างที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราหนึ่งมาตราใดในสามมาตราดังกล่าวข้างต้นมีความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 144