กฎหมายแรงงาน : วันลาป่วย


931 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : วันลาป่วย




กฎหมายแรงงาน : วันลาป่วย

 

มาตรา 32   ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ

 

ในกรณีที่นายจ้างจัดแพทย์ ให้แพทย์นั้นเป็นผู้ออกใบรับรอง เว้นแต่ลูกจ้างไม่สามารถให้แพทย์นั้นตรวจได้

วันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานและวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา 41 มิให้ถือเป็นวันลาป่วยตามมาตรานี้

การลาป่วยตามบทบัญญัติข้างต้นได้กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่เจ็บป่วยไม่สามารถมาทำงานได้จะได้หยุดงานโดยไม่ถูกนายจ้างลงโทษทางวินัยฐานขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ และในขณะเดียวกันก็คุ้มครองรายได้ของลูกจ้างในระหว่างที่ลูกจ้างหยุดงานนั้นด้วย ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงซึ่งหมายถึงลาป่วยได้จนกว่าจะหายป่วยหรือตาย การแสดงหลักฐานการลาป่วยสำหรับลูกจ้างที่ลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานติดต่อกันขึ้นไป นายจ้างมีสิทธิเรียกให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือแสดงใบรับรองของสถานพยาบาลของทางราชการ (เช่น ใบรับรองของสถานีอนามัย ใบรับรองของศูนย์บริการสาธารณสุข) ซึ่งผู้รับรองอาจเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในสถานพยาบาลของทางราชการเท่านั้นก็ได้ วันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (หรือ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537) นั้นกฎหมายฉบับนี้ไม่ให้ถือว่าเป็นวันลาป่วย ดังนั้น ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างที่หยุดงานนั้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  คงได้รับค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เท่านั้น ในเรื่องเกี่ยวกับ วันลาเพื่อคลอดบุตรซึ่งมักจะมาใช้ปนเปกับวันลาป่วย กฎหมายก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่าวันลาเพื่อคลอดบุตรไม่ให้ถือว่าเป็นวันลาป่วยตามบทบัญญัตินี้ด้วย คือแยกกันเด็ดขาดระหว่างวันลาป่วยกับวันลาเพื่อคลอดบุตร

มาตรา 57 วรรคแรก กำหนดให้ นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน

บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ได้มีบทลงโทษ แต่ถ้านายจ้างไม่ให้ลูกจ้างลาป่วยทั้งๆ ที่ลูกจ้างป่วย แล้วก็ไปลงโทษทางวินัยโดยตัดค่าจ้างหรือไม่จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ลูกจ้างก็ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าจ้างที่นายจ้างตัดหรือไม่จ่ายตามกฎหมาย ศาลก็จะวินิจฉัยว่าลูกจ้างป่วยและมิสิทธิลาป่วยตามมาตรานี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายบัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงนั้น  น่าจะเกิดภาระแก่นายจ้างพอสมควร

ประการแรกคือ นายจ้างจะต้องยอมให้ลูกจ้างลาป่วยตลอดไป ซึ่งแม้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเพียง 30 วันทำงานแรกก็ตาม แต่เมื่อลูกจ้างยังลาป่วยอยู่ ลูกจ้างก็ยังมีสภาพเป็นลูกจ้าง มีสิทธิจะใช้สวัสดิการของนายจ้างในเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น เบิกค่ารักษาพยาบาล เบิกค่สวัสดิการต่างๆ

ประการสอง คือ ถ้าลูกจ้างป่วยนานหรือป่วยประเภทไม่มีวันหาย หากนายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วยก็จะมีปัญหาว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 หรือไม่ ซึ่งตามแนวคำพิพากษาฎีกาเดิมนั้น เมื่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ลูกจ้างกำหนดลาป่วยได้ปีละ 30 วันทำงาน ลูกจ้างที่ลาป่วยเกินปีละ 30 วันทำงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างนั้นได้ โดยจ่ายค่าชดเชย และไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

อัพเดทล่าสุด