กฎหมายแรงงาน : การนับระยะเวลา


915 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การนับระยะเวลา




มาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการคำนวณระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ให้นับวันหยุด วันลา วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างและวันที่นายจ้างสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง รวมเป็นระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างด้วย

 

มาตรา 20   การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใดและการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตาม ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น

        บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องการคำนวณระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง เพื่อการได้สิทธิของลูกจ้างในเรื่องต่างๆ เช่น การมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 30 การได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 119 เป็นต้น โดยมีเจตนารมณ์ประสงค์ให้นับระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานเป็นต้นไปจนถึงวันเกิดสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายโดยไม่ต้องหักวันใดออก

        วันที่นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง ได้แก่ วันที่นายจ้างอนุญาตให้หยุดงานไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดที่มิใช่วันลากิจตามที่นายจ้างกำหนดเช่น การขออนุญาตหยุดงานไปเป็นพยานศาลตามหมายเรียกของศาล เป็นต้น ส่วนวันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง ได้แก่ วันที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานเนื่องจากนายจ้างไม่อาจดำเนินการผลิตหรือบริการได้หรือนายจ้างมีเหตุสำคัญประการอื่น เช่น สถานประกอบกิจการถูกไฟไหม้บางส่วนต้องซ่อมแซม  เป็นต้น

         การพิจารณาว่านายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 หรือไม่ ให้พิจารณาจากสภาพของงานที่ลูกจ้างทำว่ามีความต่อเนื่องกันเพียงใด และเหตุผลในการเลิกจ้างในแต่ละช่วงเวลาเป็นสำคัญ

  


ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

 

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ

อัพเดทล่าสุด