กฎหมายแรงงาน : การเลิกจ้าง


973 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การเลิกจ้าง




มาตรา 17   สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

        ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด ให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

        ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุผลตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

        การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาจ้างตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        บทบัญญัติข้างต้นกำหนดไว้เพื่อให้การเลิกสัญญาซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 มาเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย เพื่อให้การเลิกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและสะดวกแก่การบังคับใช้กฎหมาย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 2364/2545  สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 17 วรรคสอง เมื่อมาตรา 17 มิได้มีข้อยกเว้นเรื่องการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงาน การเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างการทดลองงานโยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (คำพิพากษาฎีกาที่ 6238/2545 ก็วินิจฉัยเช่นเดียวกัน)

คำพิพากษาฎีกาที่ 6020/2545  ลูกจ้างยื่นใบลาออกต่อนายจ้างย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกจ้าง สัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างก็มีผลในวันที่ลูกจ้างแจ้งไว้ในใบลาออกนั้นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่จำเป็นต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด

        บทบัญญัติในวรรคสามกำหนดให้นายจ้างที่บอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือต้องระบุเหตุผลของการเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างนั้นด้วยจึงจะสามารถยกเหตุผลที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างได้ เป็นการยกเว้นมาตรา 119 ซึ่งบัญญัติแยกไว้ต่างหากจากการจ่ายค่าชดเชย นายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจึงควรต้องมีหนังสือเลิกสัญญาจ้างระบุเหตุผลเลิกจ้างทุกครั้ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 2599-2606/2541  ตามประกาศของนายจ้างที่ปลดลูกจ้างออกจากงาน นายจ้างจะอ้างเหตุเพียงว่าลูกจ้างละทิ้งการปฏิบัติงานเท่านั้น เท่ากับนายจ้างประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในประกาศเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้าง เมื่อนายจ้างถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุผลตามที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้เท่านั้น จะยกเหตุอื่นเป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่

คำพิพากษาฎีกาที่  7047/2542  บทบัญญัติมาตรา 17 วรรคสอง ได้กำหนดหลักการเรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างขึ้นใหม่เป็นพิเศษยิ่งกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 โดยกำหนดว่าในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจกล่าวบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเมื่อถึง หรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างอาจทำเป็นหนังสือหรืออาจบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าที่ได้ทำเป็นหนังสือดังกล่าวได้ถูกจำกัดโดยมาตรา 17 วรรคท้ายว่าไม่ให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 และประมลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 กล่าวคือ ถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่า ถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเป็นข้อปฏิเสธไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา  ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 17 วรรคสาม ที่ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น คงมีความหมายเพียงว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวนั้นไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มาตรา 17 วรรคสาม จึงหาได้บังคับเด็ดขาดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจาไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 95/2543 ก็วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)

จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้น ได้วางหลักเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาจ้างไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจา  นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุผลแห่งการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจานั้นด้วย จึงมีสิทธิยกเหตุตาม (1) ถึง (6) แห่งมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้

สำหรับกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยปริยาย (ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นจะเกิดจากการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรือเป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ตามมาตรา 118 วรรคสอง) นั้น นายจ้างไม่น่าจะยกเหตุที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างได้เลย อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้เฉพาะคดีหนึ่งว่า

คำพิพากษาฎีกาที่  5410/2544    เมื่อหนังสือเลิกจ้างมิได้ระบุเหตุตามมาตรา 119 ไว้ การที่นายจ้างจะยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเนื่องจากลูกจ้างหมิ่นประมาทนายจ้างอันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างจึงเป็นการยกเหตุตามมาตรา 119 (1) ขึ้นอ้างภายหลัง  ต้องห้ามตามมาตรา 17 วรรคสาม

คำพิพากษาฎีกาที่  4496/2545   การที่นายจ้างสั่งด้วยวาจาพักงานลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดเวลาและมิได้จ่ายค่าจ้างให้ เป็นกรณีที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงถือว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามบทบัญญัติตามกฎหมายแล้ว                

คำพิพากษาฎีกาที่  4496/2545   ตั้งแต่วันที่สั่งพักงาน เมื่อการเลิกจ้างในคดีนี้เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้างจึงต้องนำเหตุแห่งการสั่งพักงานของนายจ้างมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างในการพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องการจ่ายค่าชดเชย ตามมาตรา 118,119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541


ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

 

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ


อัพเดทล่าสุด