กฎหมายแรงงาน : การปฏิบัติตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


1,219 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : การปฏิบัติตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์




มาตราที่ 14   ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างให้ถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

         บทบัญญัตินี้มีลักษณะเป็นการกำหนดกฎหมายซ้อนกฎหมาย คือ กำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประหนึ่งว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ใช่กฎหมายหรือไม่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งต้องตรากฎหมายสำทับไว้ว่าให้นายจ้างปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นับว่าเป็นการเขียนกฎหมายที่แปลก เจตนารมณ์ของการบัญญัติมาตรานี้คงสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะที่ 6  เรื่องจ้างแรงงาน ตั้งแต่มาตรา 575 ถึงมาตรา 586 นั้น มีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชนซึ่งนายจ้างกับลูกจ้างสามารถทำข้อตกลงหรือทำสัญญาให้ผิดแผนกแตกต่างไปจากกฎหมายดังกล่าวได้ แต่เมื่อมาตรา 14 กำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรานี้บัญญัติอยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ก็น่าจะมีผลทำให้บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างนั้นเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยไปด้วย ซึ่งนายจ้างจะทำสัญญากับลูกจ้างให้ผิดแผกแตกต่างไปจากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ นอกจากนายจ้างจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้แล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สำคัญซึ่งนายจ้างต้องปฏิบัติมี 2 เรื่อง คือ การออกใบสำคัญแสดงการทำงานหรือใบผ่านงานตามมาตรา 585 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไรแล้วงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร” และการให้ค่าเดินทางขากลับตาม มาตรา 586 ซึ่งกำหมดว่า เมื่อการจ้างงานสิ้นสุดลงโดยมิใช่การกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง นายจ้างต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้แก่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกค่าเดินทางขามาให้

        มีข้อน่าสังเกตว่า บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฝ่ายเดียว แต่มิได้กำหนดให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติต่อนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย มาตรานี้ไม่มีบทลงโทษทางอาญาแต่อย่างใด แต่บัญญัติไว้เพื่อให้อำนาจแก่พนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นผู้ตรวจตราดูแลและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ แต่ถ้าพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พนักงานตรวจแรงงานก็มีอำนาจออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องได้ตามมาตรา 139(3) ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งอย่างใดไปแล้ว หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามนายจ้างก็จะมีความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 146

อัพเดทล่าสุด