กฎหมายแรงงาน : บุริมสิทธิ


739 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : บุริมสิทธิ




 

มาตรา 11 หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินสะสม เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มให้ลูกจ้างหรือกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณี มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        ในกรณีที่นายจ้างมีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าหนี้มากราย การบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาย่อมต้องนำทรัพย์สินของนายจ้างมาเฉลี่ยกันระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย เพื่อคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเป็นเจ้าหนี้ด้วยให้ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น โดยไม่ต้องนำหนี้ที่นายจ้างต้องชำระแก่ลูกจ้างไปเฉลี่ยกับหนี้ของเจ้าหนี้สามัญอื่น บทบัญญัติข้างต้นจึงกำหนดให้หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระเงินดังกล่าวเป็นหนี้บุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        บุริมสิทธิ หมายถึง สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า

มาตรา 253  ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ คือ

        1. ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน

        2. ค่าปลงศพ

        3. ค่าภาษีอากร และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งเป็นนายจ้าง

        4. ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน

มาตรา 257 บุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างนั้น ให้ใช้สำหรับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน

อัพเดทล่าสุด