กฎหมายแรงงาน : ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม


1,066 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน : ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม




มาตรา 9  ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตามมาตรา 10 วรรค 2 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 121 และมาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิห้าต่อปี

        ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

        ในกรณีที่นายจ้างพร้อมที่จะคืนหรือจ่ายเงินตามวรรคหนึ่งและสอง และได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่นายจ้างนำเงินนั้นไปมอบไว้

        กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างหลายประเภท เงินบางประเภทมีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีพของลูกจ้างและครอบครัว เช่น ค่าจ้าง เป็นต้น หากนายจ้างจ่ายช้ากว่ากำหนดหรือไม่ยอมจ่ายให้โดยดีต้องให้ลูกจ้างฟ้องเรียกร้องเอาย่อมทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก จึงต้องมีมาตรการกำหนดให้นายจ้างรับผิดเพิ่มขึ้นในกรณีที่จ่ายเงินดังกล่าวผิดกำหนดเวลา และให้รับผิดชอบเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษกรณีจงใจไม่จ่ายเงินนั้น เพื่อป้องปรามมิให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างผิดกำหนดเวลาจึงมีบทกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดโดย

1.เสียดอกเบี้ย ให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ ถึงกำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย

2. เสียเงินเพิ่ม ให้แก่ลูกจ้าง เมื่อพ้นกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย ในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน

 

        ตามเจตนารมณ์ นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยหรือเสียเงินเพิ่มเพียงประการ เดียวเท่านั้นกล่าวคือ ถ้าผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าจงใจผิดนัดก็ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 9 วรรคสอง เงินที่จะต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มดังกล่าวได้แก่เงินดังต่อไปนี้

            1.     เงินประกันที่ต้องคืนตามมาตรา 10 วรรคสอง

            2.     ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่ต้องจ่ายตามมาตรา 70

            3.     ค่าชดเชยที่ต้องจ่ายตามมาตรา 118

            4.     ค่าชดเชยพิเศษที่ต้องจ่ายตามมาตรา 120 ถึงมาตรา 122

ส่วนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างกรณีอื่น เช่น กรณีตามมาตรา 65 กรณีมาตรา 75 กรณีมาตรา 105 กรณีมาตรา 116 เป็นต้น ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 9 ลูกจ้างคงเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เท่านั้น

คำพิพากษาที่ 5473-5228/2544  เงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรางวัลในการปฏิบัติงานเท่านั้น มิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายเป็นการตอบแทนตามสัญญาจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้าง การที่นายจ้างไม่จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างจึงมิใช่กรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง อันทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 9 วรรค สอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 540/2545  โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยต่อเมื่อจำเลยผิดนัดจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยผิดนัดเมื่อใด แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้โดยเฉพาะก็ตาม

อัพเดทล่าสุด