การคัดเลือกบุคลากร : กระบวนการคัดเลือกบุคลากร


5,976 ผู้ชม


การคัดเลือกบุคลากร : กระบวนการคัดเลือกบุคลากร




การคัดเลือกบุคลากร (Selection)
 
      เมื่อขั้นตอนของการสรรหาสิ้นสุดลง บริษัทจะได้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติเบื้องต้นตรงตามความต้องการ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องมา ผ่านกระบวนการเลือกสรร (Selection) เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุด ในจำนวนที่บริษัทต้องการ ซึ่งต้องมีเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผู้สมัครงานแต่ละคน เกณฑ์มาตรฐานนี้ได้มาจาก การกำหนดคุณสมบัติ ของผู้ปฏิบัติงาน (Job Specification) ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์งานอีกต่อหนึ่ง
   
  กระบวนการคัดเลือกบุคลากร
      กระบวนการเลือกสรร เป็นวิธีการหลายๆ วิธี ที่ พยายามที่จะวัดเอาลักษณะต่างๆ ของตัวบุคคล ที่เป็นข้อมูลที่สำคัญของผู้สมัครงานออกมา แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งวิธีการต่างๆ ที่เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจคัดเลือก ได้แก่
   

1. การสัมภาษณ์ เบื้องต้น

 

     มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะกลั่นกรอง บุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมออกไป ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในขั้นตอนต่อไป เพื่อเป็นการลดความยุ่งยาก เวลา และค่าใช้จ่าย ที่ต้องใช้สำหรับคนที่มี คุณสมบัติไม่เหมาะสมให้น้อยลง การสัมภาษณ์เบื้องต้น จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงาน ที่รับผิดชอบในการดำเนินการรับสมัคร ซึ่งจะกระทำง่ายๆ รวมถึงการถามคำถามสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการจะทราบ เช่น วุฒิ ทางการศึกษา อายุ เพศ ศาสนา ประสบการณ์ในการทำงาน เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการสัมภาษณ์เบื้องต้นนี้ จะเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นหรือสอบถามได้ง่ายๆ ถ้าหากไม่ตรงตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ ก็สามารถปฏิเสธได้เลย สำหรับผู้ ที่ผ่านเกณฑ์ในเบื้องต้น ก็จะได้รับแบบฟอร์มใบสมัครให้กรอก เพื่อไปผ่านการพิจารณาในขั้นต่อไป

   
2. การกรอกแบบฟอร์มใบสมัคร
 

    ขั้นตอนหลักที่สำคัญของกระบวนการคัดเลือก คือ การให้ผู้สมัครงาน แจ้งรายละเอียดส่วนตัว โดยการกรอกลงในแบบฟอร์มใบสมัคร ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นความจริงและถูกต้องที่สุด ที่ผู้สมัครจะต้องแสดงออกมา พร้อมทั้งมอบหลักฐานเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น ใบแสดงวุฒิการศึกษา สำเนาเอกสารทางราชการ หรือเอกสารอื่นๆ ตามที่บริษัทกำหนด

   
3. การตรวจสอบภูมิหลัง
      ในบางตำแหน่งที่สำคัญ อาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบภูมิหลังของผู้สมัครก่อน เพื่อป้องกัน ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลอาจจะใช้วิธีการติดต่อสอบถามกลับไปยังสถานที่ทำงานเดิม หรือบุคคลที่ผู้สมัครอ้างอิงถึงในใบสมัคร หรือจากการสัมภาษณ์ เพื่อสอบถามถึงประวัติในการปฏิบัติ งานที่ผ่านมา
   
4. การทดสอบ
  ขั้นตอนต่อมาในการคัดเลือกผู้สมัครคือ การทดสอบ ถ้าเราพิจารณาหน่วยงานทั้งหมดแล้วจะพบว่า ส่วนมากจะไม่ใช้ขั้นตอนนี้ เพราะการ ทดสอบเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น จึงจะมีกำลังความสามารถพอ ที่จะจัดให้มีการสอบคัดเลือกผู้สมัครได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ขององค์กรด้วย ถึงแม้จะเป็นองค์กรขนาดเล็ก แต่ถ้าต้องการคัดคนที่ ความรู้ความสามารถจริง ๆ ก็อาจให้มีการจัดการสอบคัดเลือกก็ได้
   
5. การสัมภาษณ์
      การสัมภาษณ์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญของหน่วยงาน ที่ใช้ในการคัดเลือกบุคลากร การใช้การ สัมภาษณ์ที่มีรูปแบบคำถามตายตัว ในการถามผู้สมัครแต่ละคนเหมือน ๆ กัน ก็เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับการสัมภาษณ์ได้มากขึ้น
    โดยทั่วไปแล้ว การสัมภาษณ์มี 2 รูปแบบด้วยกันคือ แบบสัมภาษณ์ที่มีแนว และแบบ สัมภาษณ์ที่ไม่มีแนว การสัมภาษณ์แบบมีแนวก็คือ มีการเตรียมคำถามเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์ Job specification และ Job description ของแต่ละตำแหน่งงาน การสัมภาษณ์ที่ดี จะสามารถได้ข้อมูล จากผู้สมัครได้มาก และทำให้กระบวนการสัมภาษณ์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
   
6. การตรวจร่างกาย
      วัตถุประสงค์เบื้องต้น ในการตรวจร่างกาย 3 ประการคือ
    ประการแรก เป็นการยืนยันถึงความพร้อมของร่างกาย ที่จะสามารถปฏิบัติงานได้ ทั้งทางด้านกล้ามเนื้อ นัยน์ตา และสุขภาพ
    ประการที่สอง เป็นการป้องกันความเสียหายขององค์การ อันเกิดจากการเรียก ร้องของพนักงาน ในกรณีที่เกิดความสูญเสียความสามารถบางอย่างของร่างกายไป เช่น ถ้ามีการตรวจร่างกายพบว่า หูของพนักงานผู้นั้นไม่ได้ยินเสียงมาก่อนแล้ว การที่พนักงานจะเรียกร้องให้องค์การจ่ายค่าชดเชยที่หู ไม่ได้ยิน อัน เนื่องมาจากการทำงาน ก็ย่อมไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นต้น และ
    ประการสุดท้าย เป็นการป้องกันโรคติดต่อ ผู้สมัครบางคนอาจเป็นโรคที่เป็นที่รังเกียจแก่สังคม และสามารถติดต่อถึงผู้อื่นได้ การตรวจร่างกายก็ สามารถป้องกันในเรื่องนี้ได้
   
7. การบรรจุทดลองงาน
  เมื่อผ่านขั้นตอนของการตรวจร่างกายแล้ว ผู้สมัครก็จะได้รับบรรจุเข้าทดลองปฏิบัติงาน ซึ่งตามกฏหมายคุ้ม ครองแรงงาน จะมีกำหนดระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานไม่เกิน 120 วัน การทดลองงานจะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ

    ระยะแรก พนักงานจะได้รับคำแนะนำจากฝ่ายบุคคลให้ทราบถึง การดำเนินงานขององค์การ ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ระยะเวลาการทดลองงาน การลาหยุด การร้องทุกข์ ฯลฯ ในสิ่งที่พนักงานทุกคนควรทราบ

    ระยะที่สอง เป็นการแนะนำโดยผู้บังคับบัญชาขั้นต้น ในรายละเอียดต่างๆ ในการ ปฏิบัติงาน เช่น ห้องพัก ชั่วโมงการทำงาน การทำงานล่วงเวลา เวลาหยุดพักกลางวัน และอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งเกี่ยวกับการทำงานและตัวงาน

    ระยะที่สาม เป็นระยะที่สิ้นสุดการบรรจุเข้าทดลองงาน เป็นระยะ เวลาที่ได้กำหนดไว้แล้ว เช่น 120 วัน ก็จะมีการประเมินจากฝ่ายบุคคล และผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ว่าพนักงานผู้นั้น มีความพึงพอใจในการทำงานหรือไม่ และผู้บังคับบัญชาขั้นต้น พอใจในตัวพนักงานผู้นั้นหรือไม่ ถ้าผลงานไม่เป็นที่ น่าพอใจ จะให้ย้ายไปที่ทำงานในตำแหน่งใดจึงจะเหมาะสม หรือต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมในเรื่องใด หรือให้พนักงานผู้นั้นออกจากงานไปเลย

   
      กระบวนการคัดเลือกนี้มีพื้นฐานอยู่บนการวิเคราะห์งาน (Job analysis) งบประมาณการจ้างงาน (Labor budgeting) และการสรรหา (Recruitment) การวิเคราะห์งาน จะทำให้ได้รับคุณสมบัติขั้นต่ำสุดของงานนั้น ๆ จะเป็นเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่สุด ที่จะใช้คัดเลือกผู้สมัคร การวิเคราะห์ปริมาณงานและกำลังคน จะทำให้เรารู้ถึงจำนวนคนที่ต้องการ และการสรรหาที่ดี ก็จะทำให้เราได้คนที่คุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ แต่ละขั้นตอนของการเลือกสรร ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลใน สิ่งที่เราต้องการจากผู้สมัคร ที่จะนำมาใช้ในการเลือก การสัมภาษณ์เบื้องต้น ช่วยให้เราคัดคนที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการออกไป แบบฟอร์มใบสมัคร จะทำให้เราทราบพฤติกรรมในอดีตของผู้สมัคร การทดสอบ ก็สามารถที่จะวัดความสามารถทางสมอง ความถนัด และทัศนคติของผู้สมัคร และจาก การสัมภาษณ์ ก็จะได้รู้ถึงบุคลิกลักษณะ และแนวความคิดของผู้สมัคร การตรวจร่างกาย ก็จะทำ ให้เรารู้ถึงสมรรถภาพทางกายของผู้สมัคร ว่าตรงกับลักษณะของงานหรือไม่ และโดยการบรรจุเข้าทดลองงาน ก็จะได้รู้ว่า ผู้สมัครงานผู้นั้น มีความเหมาะสมอย่างแท้จริง และสามารถปฏิบัติงานนั้นได้หรือไม่

อัพเดทล่าสุด