การทดสอบเพื่อการจ้างงาน


1,329 ผู้ชม


การทดสอบเพื่อการจ้างงาน




    การทดสอบเพื่อการจ้างงาน(Employment Testing) เป็นความพยายามที่จะให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ความสามารถ ทักษะของผู้สมัคร ตลอดจนถึงทัศนคติและบุคลิกภาพ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพยากรณ์ความสำเร็จในการทำงานของผู้สมัครในอนาคตถ้าได้รับการจ้างงาน

จุดมุ่งหมายของการทดสอบเพื่อการจ้างงานมีดังนี้

 

1)  เพื่อเป็นการพยากรณ์ (Prediction) ความสามารถ ความสำเร็จ และคุณลักษณะต่างๆ ของผู้สมัครซึ่งจะช่วยให้องค์การสามารถตัดสินใจว่า ผู้สมัครเหล่านั้นจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลเพียงใดผลการทำนายจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ใช้ ว่ามีความเชื่อมั่น และความเที่ยงตรงเพียงใด

2)   เพื่อการคัดเลือก(Selection) และบรรจุบุคคลเข้าทำงาน ตลอดจนเพื่อพิจารณาว่าควรจะจ้างบุคคลใดเข้าทำงานในตำแหน่งใด โดยอาศัยแบบทดสอบเพื่อการตัดสินใจประกอบการคัดเลือกด้วยวิธีอื่นด้วย

3)   เพื่อการแยกประเภท(Classification) บุคคลตามความสามารถและความถนัด เช่น ผู้สมัครมีความสามารถในการใช้สายตา การใช้มือ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เพื่อจะได้ทำงานตามความถนัดและความสามารถ

ประเภทของการทดสอบ

 

การทดสอบที่ใช้ในการจ้างงานแบ่งได้เป็น 7 ประเภท ดังนี้

การทดสอบที่ใช้วัดพฤติกรรม (Type of behavior measured)

แบบทดสอบที่ใช้วัดพฤติกรรมเป็นแบบทดสอบที่ใช้กันมากที่สุด แบบทดสอบวัดพฤติกรรมที่มีใช้กันทั่วไป เช่น

    1.1     แบบทดสอบเชาวน์หรือสติปัญญา (Intelligence tests)

    1.2     แบบทดสอบบุคลิกภาพ(Personlity tests)

    1.3     แบบทดสอบความสนใจ(Interest tests)

    1.4     แบบทดสอบการใช้สายตา(Vision tests)

    1.5     แบบทดสอบดนตรี(Music tests)

    1.6     แบบทดสอบศิลปะ(Art tests)

    1.7     แบบทดสอบทางเครื่องยนต์กลไก(Mechanical tests) และอื่นๆ

    แบบทดสอบข้างต้นแต่ละชนิดจะชี้ให้เห็นพฤติกรรมเฉพาะด้านของบุคคล

การทดสอบชนิดให้เขียนตอบด้วยกระดาษเละดินสอ หรือให้ลงมือปฏิบัติ (Paper and pencil tests versus performance test)

ที่ใช้กันส่วนใหญ่จะเป็นการทดสอบชนิดให้เขียนตอบ(Paper and pencil tests) ผู้ถูกทดสอบจะได้รับแบบทดสอบซึ่งพิมพ์คำถามไว้เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้นผู้ถูกทดสอบจะต้องอ่านและตอบคำถามโดยการเขียนลงไปในกระดาษคำตอบที่แจกให้ไป แต่มีการทดสอบอีกแบบหนึ่งที่ผู้ตอบไม่ต้องเขียนคำตอบหากต้องลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ หรืองานตามที่กำหนด เช่น การตอกเข็มหมุดด้วยหิน การประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์กลไก การขับรถยนต์ เป็นต้น การทดสอบชนิดหลังนี้เรียกว่าการทดสอบลงมือปฏิบัติ (Performance test)

ทดสอบความเร็วหรือพลังความสามารถ (Speed test versus power test)

การทดสอบความเร็ว(Speed test) เป็นแบบทดสอบที่สร้างขึ้นโดยข้อสอบแต่ละข้อมีความมีความง่ายผู้ถูกทดสอบต้องพยายามทำข้อสอบแต่ละข้อให้เสร็จในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการทดสอบความไว ความรวดเร็วของผู้ตอบ ในทางตรงกันข้าม การทดสอบวัดพลังความสามารถ (Power tests) จะประกอบไปด้วยข้อสอบที่มีความยาก ให้เวลาในการทำงาน โดยไม่คำนึกถึงว่าจะใช้เวลานานเท่าไร คะแนนที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะตอบคำถามได้อย่างละเอียดถูกต้อง เป็นการวัดการแสดงความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ได้ด้วย

การทดสอบเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม(Individual test versus group test)

การทกสอบรายบุคคล(Individual test) เป็นการทดสอบที่กำหนดให้ทำเป็นรายบุคคลหมายความว่า ไม่ให้มีผู้ถูกทดสอบพร้อมกัน2 คน หรือมากกว่าต่อผู้ทำการทดสอบ 1 คน เนื่องจากวิธีนี้ต้องการสังเกตวิธีการปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการทดสอบ ส่วนการทดสอบแบบกลุ่ม (Group tests) เป็นการดำเนินการสอบคนจำนวนมากโดยให้ทำข้อสอบพร้อมกันในเวลาเดียวกัน เช่น การทดสอบบุคลิกโดยการตอบแบบสำรวจเป็นการทดสอบที่นิยมใช้ในวงการอุตสาหกรรม เพราะสามารถทดสอบได้เป็นกลุ่มและเป็นการประหยัดกว่าการทดสอบเป็นรายบุคคล

การทดสอบที่ใช้ภาษาหรือไม่ใช้ภาษา(Language tests versus nonlanguage test)

   ทดสอบที่ใช้ภาษา(Language test) เป็นการทดสอบที่ถูกทดสอบต้องแสดงความสามารถทางภาษา สื่อสารให้ผู้สอบเข้าใจโดยการใช้ภาษา มีการอธิบายยกตัวอย่างประกอบ การให้คะแนนจะดูจากความถูกต้อง สละสลวยของการใช้ภาษาของผู้ถูกทดสอบ ในบ้างกรณีมีความจำเป็นต้องการหลีกเลี่ยงจากข้อผิดพลาดทางการใช้ภาษาของผู้ถูกทดสอบ เช่น การทดสอบความสามารถทางเครื่องยนต์กลไกของบุคคลที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้คล่อง การใช้แบบทดสอบที่ใช้ภาษา (Nonlanguage test) ขึ้น เพราะไม่ต้องใช้ผู้ทดสอบใช้ทักษะทางภาษา จัดเป็นแบบทดสอบที่อิสระจากการใช้ภาษาเขียน (Language-free test)

การทดสอบที่ใช้แบบทดสอบมาตรฐาน หรือแบบทดสอบที่ผู้ทดสอบสร้างขึ้นเอง (Standardized tests versus tester made tests)

แบบทดสอบที่พัฒนาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบ ซึ่งเรียกว่าแบบทดสอบมาตรฐาน(Standardized tests) จะมีความเทียงตรงและเชื่อมั่น มีคำอธิบายหรือคำชี้แจงประกอบการบริหารการทดสอบอย่างชัดเจน และจะให้คะแนนตามคำอธิบาย นับเป็นแบบฟอร์มที่เป็นมาตรฐานความเชื่อมั่นมาแล้ว ส่วนแบบทดสอบที่ผู้ทดสอบสร้างขึ้นมาเอง (Tester made tests) เป็นแบบทดสอบที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถในหน่วยงานเป็นผู้พัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้แบบดสอบขององค์การ อาจจัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น

การทดสอบที่ใช้แบบทดสอบที่มีลักษณะเป็นปรนัยหรืออัตนัย (Objective tests subjective tests)

แบบทดสอบที่มีลักษณะเป็นปรนัย (Objective tests) เป็นข้อสอบที่มีความหมายชัดเจนในการแปลความหมายของคะแนน ส่วนแบบทดสอบที่มีลักษณะเป็นอัตนัย (Objective tests) นั้น การพิจารณาให้คะแนนของผู้ถูกทดสอบที่พึงจะได้ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจ การตีความหมายยังมีข้อขัดแย้งได้

หลักเกณฑ์การเลือกแบบทดสอบ

 

การใช้แบบทดสอบในการคัดเลือกบุคลกรเข้าทำงาน ควรคำนึงถึงคุณภาพของแบบทดสอบจะต้องให้ตรงกับจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลตรงตามที่ต้องการ แบบทดสอบที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้

1. ความเที่ยงตรงของแบบทดสอบ(Validity )  หมายถึง แบบทดสอบสามารถวัดสิ่งที่ต้องการวัดอย่างถูกต้องตรงตามความมุ่งหมาย เช่น แบบทดสอบงานช่างก็ควรเป็นการวัดความรู้ทางช่าง เป็นต้น ความเที่ยงตรงแบ่งได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่

    (1.)  ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (Content validity) หมายถึง คุณภาพของแบบทดสอบวัดได้ตรงตามเนื้อเรื่องที่ต้องการวัด และครอบคลุมรายละเอียดทั้งหมด

    (2.)  ความเที่ยงตรงตามโครงสร้าง (Construct validity) หมายถึง แบบทดสอบที่สามารถวัดได้ตรงตามทฤษฎีที่ต้องการวัดซึ่งมีการกำหนดกรอบโครงสร้างตามทฤษฎี

    (3.)  ความเที่ยงตรงตามสภาพจริง (Concurrent validity) หมายถึง แบบทดสอบสามารถวัดได้ตรงตามสภาพความจริงของสิ่งที่วัด

    (4.)  ความเที่ยงตรงเชิงพยากรณ์ (Predictive validity) หมายถึง แบบทดสอบนั้นสามารถนำผลที่วัดได้ในปัจจุบันไปทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

2. ความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ (Rrliability)  หมายถึง  แบบทดสอบที่เชื่อถือได้ผลการสอบไม่ว่าจะทดสอบอีกครั้งก็ตามจะได้ผลคงที่เสมอ

3. ความเป็นปรนัยของแบบทดสอบ (Objectivity) หมายถึง แบบทดสอบที่สามารถวัดได้ตรงตามสภาพที่เป็นจริง คำถามที่ใช้มีความชัดเจนรัดกุม การตรวจให้คะแนนและแปลความหมายคะแนนเป็นพฤติกรรมเป็นไปในทางเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงว่าใครจะเป็นผู้วัด

4. อำนาจจำแนก (Discrimination) หมายถึง ความสามารถที่จะชี้ให้เห็นลักษณะความแตกต่างหรือความเหมือนกันของสิ่งที่วัดมาได้ และเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง แยกเป็นกลุ่มคนเก่งและคนอ่อนได้เป็นต้น

5. ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง สามารถนำไปใช้ได้สะดวก ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย สะดวกในการให้คะแนน

    โดยสรุปจะเห็นว่าการทดสอบเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดเลือก ดังนี้ ต้องเลือกแบบทดสอบที่ดีคุณภาพสูง สามารถวัดได้ในสิ่งที่ต้องการวัด มีอำนาจจำแนกและสามารถใช้ผงการทดสอบประกอบการตัดสินจ้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อัพเดทล่าสุด