การสัมภาษณ์งานแบบมีโครงสร้าง : ประเภทขอผู้เข้ารับการสัมภาษณ์


707 ผู้ชม


การสัมภาษณ์งานแบบมีโครงสร้าง : ประเภทขอผู้เข้ารับการสัมภาษณ์




การสัมภาษณ์งานแบบมีโครงสร้าง : ประเภทขอผู้เข้ารับการสัมภาษณ์

 

 

        ในด้านของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่ดีนั้นจะเป็นผู้เตรียมความพร้อมทั้งทางกายและจิตใจก่อนมารับการสัมภาษณ์ ที่สามารถมองตนเองได้จากแง่มุมของกรรมการสัมภาษณ์ ขณะเดียวกันก็สามารถประเมินคาดคะเนการสัมภาษณ์ได้ด้วย ระมัดระวังท่าที คำพูด อากัปกิริยาของตน รู้จักกาลเทศะว่าเมื่อใดควรพูด เมื่อใดควรเป็นฝ่ายฟัง ในระยะเริ่มต้นของการสัมภาษณ์ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่ดีดูจะไว้ตัวและเป็นทางการปล่อยให้กรรมการสัมภาษณ์เป็นฝ่ายนำการพูดคุยและเป็นผู้สร้างบรรยากาศการสัมภาษณ์ เมื่อได้รับการซักถามก็จะพูดคุยได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว กระชับและไม่พูดมากเกินงาม หรือถือวิสาสะ ฉลาดรู้ในอารมณ์ ท่วงทีและรู้ทันในกลยุทธ์ต่างๆของกรรมการ เราสามารถแบ่งประเภทของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ออกเป็น 10 ประเภท ตามพฤติกรรมที่แสดงออกในระหว่างการรับการสัมภาษณ์ได้ดังนี้

1. ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่มีอาการตื่นตระหนก

 

        อาจเนื่องเพราะไม่เคยถูกสัมภาษณ์งานมาก่อน เตรียมตัวมาไม่ดีพอ มาสาย มาช้าหรือเนื่องจากความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มั่นใจของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ เห็นได้ชัดในระยะเริ่มต้นของการสัมภาษณ์ บางคนตอบหรือพูดอะไรไม่ได้เลย กรรมการอาจสังเกตได้จากภาษาท่าทาง สีหน้า แววตา น้ำเสียง ตัวสั่น ถือเป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะต้องอดทน “ละลายพฤติกรรม” อย่างมีศิลปะและใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม ทำความคุ้นเคยให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์รู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง ซึ่งเมื่อผู้เข้ารับการสัมภาษณ์คลายความวิตกกังวลลงบ้างแล้ว เขาก็จะเปิดเผยข้อมูลความจริงได้ กรรมการต้องระมัดระวังปฏิกิริยาทางอารมณ์ของผู้สมัคร เช่น การร้องไห้ การเงียบ เครียด วิตกกังวล

2. ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่แสดงอาการปกป้องตนเอง

 

        ในระยะแรกๆ ดูเหมือนว่าผู้เข้ารับการสัมภาษณ์จะมีอาการหวาดวิตก พูดเบา ช้า สั่น ไม่ขยายความใดๆ เนื่องเพราะเขาระมัดระวังภาพพจน์ของตนเอง  กลัว เพราะคำนึงถึงตัวเองเป็นศูนย์กลาง แสดงอาการลังเลและปกป้องตน กรรมการสัมภาษณ์พึงใช้ระยะเวลาเริ่มต้นของการสัมภาษณ์งานให้เป็นไปอย่างไม่รีบร้อนนัก การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์มีเวลาคิด ลดการปกป้องตนลง บางทีผู้เข้ารับการสัมภาษณ์อาจจะถามคำถามซ้ำเพื่อให้ตัวเองได้คิดว่าจะเปิดเผยข้อมูลใดมากน้อยแค่ไหน บิดเบือนหรือไม่ กรรมการอาจใช้คำชมกับลักษณะการตอบที่ตรงไปตรงมา อย่าตำหนิ วิพากษ์ใดๆ เกี่ยวกับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ ถามคำถามกว้างๆ ก่อนแล้วค่อยๆ จำกัดประเด็นให้แคบลง สร้างความไว้วางใจ ลดการเกรงกลัวภายในของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ลง กรรมการพึงคิดเสมอว่า หน้าที่ของกรรมการคือพยายามให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ลดอาการปกป้องตนลง และค่อยๆเผยข้อมูลที่ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์คิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นสิ่งคุกคามออกมา

3. ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่มีลักษณะ “ซื่อบื้อ”

 

        แสดงอาการ เฉยเมย คิดช้า พูดช้า ไรอารมณ์ ระมัดระวังตนมากในการตอบ เมื่อตอบออกมาอาจแสดงความไม่สมเหตุสมผล “ตื้นเขิน ว่างเปล่า” กรรมการต้องอดทน ถามคำถามด้วยภาษาที่ง่าย ช้าและชัดเจน แม้จะดูน่ารำคาญบ้างก็ตามที บางทีอาจต้องถามซ้ำ หรือถามติดตามเพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบครัน การอดทนและพยายามสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น

4.  ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี

        สับสน สูญเสียสมาธิง่าย บางทีเปิดประเด็นใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเดิมที่กำลังพูดคุยกัน กรรมการพึงต้องอดทน บางทีอาจเป็นเพราะผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ยังไม่พร้อมที่จะรับคำถาม กรรมการอาจต้องเริ่มต้นด้วยคำถามปิดและชี้นำ ก่อนที่จะซักถามคำถามที่กว้างและเฉพาะงานมากขึ้นและอาจต้องมีการอธิบายคำถามเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม บอกที่มาที่ไป อันจะเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี กรรมการต้องระวังตนว่าไม่เป็นฝ่ายชี้นำคำตอบให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์

5.  ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่พูดมากเกินจำไป

 

         ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง มีสิ่งที่จะบอกเล่ามากเป็นพิเศษ ไม่เปิดเผยให้กรรมการได้พูดหรือซักถามใดเลย บางทีพูดในสิ่งที่นอกประเด็นอย่างจงใจ หรือตอบยาว กรรมการควรหยุดหรือขัดจังหวะโดยใช้วลีจำกัดประเด็น (ขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง .... สัก 2 นาทีครับ) บางทีกรรมการอาจถามคำถามอีกครั้งด้วยถ้อยคำที่ต่างจากเดิม เพื่อให้แน่ใจว่าได้คำตอบของคำถามเดิม หากยังพูดมากอีก ควรใช้ภาษาท่าทางสื่อให้ทราบ จากประสบการณ์การสัมภาษณ์ของผู้เขียนเคยพบผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่มีลักษณะเช่นนี้ในเวลาที่มีจำกัด กรรมการ 2 ใน 6 คน เท่านั้นที่มีโอกาสซักถามผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่พูดมากเกินจำเป็น โดยภาพรวมแล้วทำให้ผลการประเมินการสัมภาษณ์ของผู้เข้ารับ การสัมภาษณ์ คนนี้ไม่ดีนัก

6. ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่กระตือรือร้นมากเกินไป

 

        แรกดูเหมือนจะเป็นผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่พูดนาน (สังเกตจากข้อมูลคำตอบ) เนื่องจากอยากทำตนให้เป็นที่เข้าใจหรือให้ความช่วยเหลือ มักเป็นคนที่ร่วมสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับกรรมการ และมีแนวโน้มที่จะเลือกคำตอบในแนวทางที่กรรมการอยากฟัง บางครั้งก็จะบิดเบือนข้อเท็จจริง หน้าที่ของกรรมการเมื่อพบผู้เข้ารับการสัมภาษณ์เช่นนี้คือ ต้อให้แน่ใจว่าได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ ต้องมีเทคนิคในการตรวจสอบ สืบค้น ถามติดตามที่ดี อย่ายอมให้ถูกประจบประแจงใดๆ แล้วได้รับคำตอบที่บิดเบือน

7.  ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่ดื้อรั้น

 

     ไม่ยอมรับผิด มองอะไรแง่เดียว คิดว่าสิ่งที่ตนเองพูดออกมาเป็นจริง เปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้ บางทีดูก้าวร้าว ดื้อ ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ปกป้องจุดยืนและความคิดของตนแม้ว่าจะดูตลกจนไม่สามารถดำเนินการสัมภาษณ์ในลักษณะ “มีรับ – มีให้” อีกต่อไปได้ บางทีให้ข้อมูลเกินจริงในด้านที่ตนเห็นดีและเพิกเฉยด้านที่ไม่ดี เพื่อตนจะยังคงเป็นที่ดูดี ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่ดื้อรั้นมักไม่สามารถแยกความเห็นที่เจอปนความคิดอ่านของตนออกจากข้อเท็จจริงได้ กรรมการพึงแก้ไขอาการ “กระต่ายขาเดียว” นี้ด้วยการกำกับดูแลอย่างสุภาพ แต่อย่ายืดหยุ่นมากนัก บางทีต้องเผชิญหน้าแม้เสี่ยงกับการขัดแย้ง เป็นการยากที่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีด้วยการเห็นด้วยในทุกสิ่งกับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ กรรมการบางท่านขอให้เพียงได้ข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น ด้วยการใช้ไหวพริบและวิธีการโดยอ้อมๆ

8.  ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์หยิ่งยโส

    มุ่งตอบคำถามในแต่ละข้อแต่ละมิติของตนให้ชัด สั้น กระชับ “คม” มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ บางทีตอบด้วยลักษณะห้วนๆ เช่น “ใช่, แล้วจะทำไม, มีอะไรหรือ, ไม่มีความเห็น” แม้ภายในใจอาจจะหวาดหวั่น ไม่มั่นคง ไม่แน่ใจ แต่การแสดงออกภายนอกอาจจะเป็นอื่น กรรมการสัมภาษณ์ต้องแน่ใจว่า ความไม่สร้างความเสียหน้า ขุ่นเคืองใดๆ หรือทำให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์รู้สึก “ต่ำหรือด้อยลง” กรรมการต้องทำให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์เห็นว่าการตอบคำถามให้ข้อมูลของเขามีหรือให้ประโยชน์อย่างไรกับตัวเขาเอง เทคนิคของการสืบค้นแบบตรงไปตรงมาก็เป็นกลวิธีหนึ่งที่ไม่น่ามองข้าม เทคนิคภาษาท่าทางของการผงกศีรษะแล้วเงียบเป็นระยะๆ ก็จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ กรรมการจะทนพฤติกรรมหยิ่งผยองของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเราได้ลองสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์แล้วมากน้อยเพียงใด และกรรมการได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอแล้วหรือยัง ผู้สมัครประเภทนี้มักเป็นผู้ที่ไม่รู้จักตนเองและมีแนวโน้มที่เป็นผู้มี EQ ต่ำ

9.  ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่มุ่งร้ายและก้าวร้าว

 

        แสดงการไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ในระหว่างการสัมภาษณ์ ไม่พยายามให้ข้อมูลใด หรือหากให้ก็ทำในลักษณะไม่มีคุณค่าใดๆ ความรู้สึกมุ่งร้ายเกลียดชังที่เกิดกับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์เช่นนี้ อาจเป็นผลมาจากหลายประการ โกรธ กลัว ไม่อดทน กรรมการสัมภาษณ์อาจต้องใช้ความพยายามที่จะทำให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ได้ยอมรับเหตุผลของการแสดงออกและขอให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ให้ความร่วมมือให้ข้อมูล อาจจะเลี่ยงการพูดคุยหัวข้อที่เห็นว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวละเอียดอ่อน (Sensitive) สำหรับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกมุ่งร้ายโดยหันไปพูดคุยเรื่องที่คุกคาม ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์น้อยลง และหาวิธีการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีแทน

10.  ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ที่เจ้าเล่ห์

 

     เต็มไปด้วยเพทุบายที่จะหลอกลวงให้กรรมการหลงทาง หรือติดกับดักของเขาเป็นที่ผู้บริหารความประทับใจ (impression management) ได้ดี ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์อาจจะเล่นซ่อนหากับกรรมการ หาทางเอาชนะเหนือกว่ากรรมการ กรรมการไม่ควรให้ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์หลงระเริงต่อการแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ หรือโมโห โกรธ แสดงอาการไม่สุภาพกับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ แต่ควรมีกลวิธี (tactics) ที่จะสยบผู้เข้ารับการสัมภาษณ์เช่นนี้ให้ได้ ด้วยวิธีการที่เป็นธรรม หนักแน่นแต่ยุติธรรม (firm but fair) เช่น การถามสืบค้นให้แน่ใจได้ว่าคำตอบที่สะท้อนถึงตัวผู้เข้ารับการสัมภาษณ์จริงๆ


 

ข้อมูลอ้างอิง : การสัมภาษณ์งานแบบมีโครงสร้าง ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 3

 

โดย : ดร.วิระวัฒน์ ปันนิตามัย

อัพเดทล่าสุด