การพัฒนาคนและองค์การ (ตอนที่ 2)


730 ผู้ชม


การพัฒนาคนและองค์การ (ตอนที่ 2)




การพัฒนาจรรยาบรรณในองค์กร

              การพัฒนาจรรยาบรรณ ในบุคลากร ขององค์กรนั้น จะมุ่งเน้นการพัฒนาคนเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอ เพราะคนดี แต่อยู่ในระบบที่ไม่เอื้อ และไม่ดี ย่อมทำให้คนเสียได้ แต่บุคลากร ที่ไร้คุณภาพ ก็ย่อมทำให้เสียระบบได้ ดังนั้น การพัฒนาคน และระบบขององค์กร จึงต้องทำควบคู่กันไป เพื่อให้องค์กร ได้ดำเนินไปอย่างเป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง โดยมีผล สมฤทธิ์ของการทำงานเป็นเป้าหมาย

              จรรยาบรรณในองค์กร คือ ระบบแห่งความเป็นธรรม ที่จะทำให้องค์กร ดำเนินกิจการในสังคม ได้อย่างเป็นสุข ปลอดภัย และประสบความสำเร็จ ทั้งยังได้รับการยอมรับ ความศรัทธา เชื่อ ถือ จากสังคมด้วยดี กระทั่งมีความมั่นคง เป็นปึกแผ่น

              ส่วนองค์กรที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของการเห็นแก่ตนฝ่ายเดียว และไร้จรรยาบรรณ มักเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งภายใน และภายนอก มีสภาพที่ล้มลุกคลุกคลาน ไม่อาจประสบความสำเร็จ ในระดับที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ หรือไม่ยั่งยืน

              ดังนั้น จรรยาบรรณองค์กร จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ของความมั่งคั่ง และมั่นคง เช่นเดียวกันกับชีวิตของคนคนหนึ่ง หากขาดจรรยาบรรณในวิชาชีพ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ก็เป็น เรื่องยาก ที่จะประสบความสำเร็จ และเป็นสุขได้ การจะพัฒนาจรรยาบรรณ ในระบบขององค์กร ได้สำเร็จนั้น จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ดังต่อไปนี้

มีนักคิด และนักวิชาการ ได้อธิบายใน

  1. อำนาจอันชอบธรรม
  2. ความเชื่อถือ
  3. ความยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน
  4. การวิจัย
  5. การวางแผน
  6. การร่วมประโยชน์
  7. การปฏิบัติการสม่ำเสมอ
  8. การควบคุมต่อเนื่อง

แต่ละด้านไว้ ซึ่งสมควรนำไปทำความเข้าใจ และต่อยอดทางความคิด เพื่อใช้ประโยชน์ ดังนี้

อำนาจอันชอบธรรม การพัฒนาจรรยาบรรณในองค์กร เป็นเรื่องใหญ่ ที่มีความปราณีต ต้องใช้ทั้งความนุ่มนวล หรือไม้นวม และความเด็ดขาด หรือไม้แข็ง ในขณะเดียวกัน ซึ่งเป็น 2 ด้านใน องค์เอกภาพ ของการจัดการ ดังนั้น ต้องมีอำนาจอันชอบธรรม หรือสิทธิอำนาจ ในการดำเนินการ จึงจะประสบความสำเร็จได้

              นั่นหมายถึง ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จะต้องเห็นด้วย และร่วมด้วย หากไม่เป็นเช่นนั้น หรือแม้จะเห็นด้วย ก็ตามแต่ ไม่ร่วมด้วยแล้ว ระดับรองลงมา จนถึงสายปฏิบัติการ สายสนับสนุน ก็จะไม่ให้ความร่วมมือ และการพัฒนา ก็จะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้นำ ในการเปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลต้นแบบ เป็นเสาหลัก หรือที่เปรียบได้กับศิลามุมเอก ที่ช่างก่อได้วางลงแล้ว ในงานก่อสร้าง กล่าวคือ การเป็นผู้นำ ในการพัฒนาเสียเอง ก็จะประสบความสำเร็จ ได้โดยง่าย

ความเชื่อถือ จรรยาบรรณเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์ กับความเชื่อถือ อย่างแน่นแฟ้น ดังนั้น การเป็นผู้นำที่เชื่อถือ ไว้วางใจได้ จึงเป็นคุณสมบัติ ลักษณะของผู้นำ ในองค์กร ที่จะนำการเปลี่ยน แปลง มาสู่องค์กร และสอดคล้อง กับวิถีชีวิต ระบบความเชื่อของสังคม ซึ่งถ้าสามารถสร้างศรัทธา แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ กิจการทั้งหลาย ก็จะบรรลุผลสำเร็จได้โดยง่าย

การยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน การพัฒนา คือการเปลี่ยนแปลง จากสถานะหนึ่ง ไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง หรือที่เรียกว่า เลิกล้างสิ่งเก่าที่ล้าหลัง เสริมสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า ก้าวหน้ากว่า เป็นการพัฒนาไปทั้ง เชิงปริมาณ และคุณภาพ ในธรรมชาติของกระบวนการพัฒนา จึงเห็นการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง

              ดังนั้นหากองค์กร มีลักษณะติดยึด หรือยึดมั่นถือมั่น หรือมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยม ไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ขาดความสนใจบริบทแวดล้อม ในแต่ละระยะเหตุการณ์ มีความคิด เชิง อัตวิสัยสูง ไม่มองโลกตามความเป็นจริง ตลอดจนมีโลกทัศน์ที่ผิดแล้ว ก็ไม่อาจจะพัฒนาสิ่งใด ๆ ให้ดีขึ้นได้ บางครั้งตัวผู้นำเองตกขบวน ล้าหลังกว่าสถานการณ์ ที่ชาวจีนมีคำที่เปรียบเปรยว่า "ขยุกขยิกเหมือนหญิงมัดเท้า" นั่นเอง

การวิจัย ในกระบวรการพัฒนา มักมีผลกระทบต่อภาวะเก่าบ้าง ตามระดับความเคยชิน ความไม่คุ้นเคยกับสิ่งใหม่ ปรากฏการใหม่ ๆ ด้วยความติดยึด ผูกพัน และกลัวการเปลี่ยนแปลง ความยากลำบากในการปรับตัว ดังนั้น จึงควรต้องทำวิจัย ให้ละเอียดคอบคอบ ทั้งประเมินผลดีผลเสียอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม จึงต้องอาศัยเวลาพอประมาณ ในการปรับเข้าสู่ภาวะใหม่ ดังนั้นงานวิจัยเพื่อการพัฒนา (R&D) จึงต้องได้ข้อค้นพบ ที่มีคำตอบว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงสิ่งไร เมื่อใด อย่างไร และหามาตรการที่ดี สำหรับป้องกันปัญหา ที่อาจเกิดขึ้น และวางลำดับขั้นตอน การเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลดีต่อกัน โดยสร้างวงจรที่ทั้ง "เสริมแรง" และ "ถ่วงดุลย์" ในเชิงระบบ และเชื่อมต่อหนุนเนื่อง ตลอดทั้งกระบวนการ การวิจัย จะช่วยในการวางแผน พัฒนาจรรยาบรรณในองค์กร ได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ

การวางแผน การคิดล่วงหน้า ในการพัฒนาจรรยาบรรณในองค์กร เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และต่อเนื่อง การวางแผนที่รอบครอบละเอียดละออ มีขั้นตอนอันถูกต้อง เหมาะสม ใช้สหวิทยาการ ที่เป็น องค์ความรู้เชิงบูรณาการ ทั้งด้านบริหาร การจัดการ จิตวิทยา สังคม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนา ผสมผสานในสัดส่วนที่พอเหมาะพอดี จึงจะสร้างองค์กรอัจฉริยะ หรือ องค์กรใน อุดมคติขึ้นมาได้

การร่วมประโยชนจรรยาบรรณขององค์กร ต้องมีการพัฒนาทั้งระบบ มิใช่เรื่องของใครเพียงคนเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กร ต้องร่วมมือกัน หรือระบบบริหารทั่วทั้งองค์กร (TQM) และการที่จะทำให้สมาชิกองค์กร ยินดีโดยพร้อมเพรียง ด้วยศิลปการจูงใจ ในการบริหารบุคลากรได้นั้น ก็คือการร่วมประโยชน์เป็นหนึ่งในห้า ร่วมที่เป็นชีวิตขององค์กร ซึ่งได้แก่ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติงาน ร่วมรับประโยชน์ และ ร่วมตรวจสอบในการติดตามประเมินผล

              การปฏิบัติการสม่ำเสมอ เมื่อคนในองค์กร มีส่วนร่วม ในการบริหาร มีระบบ และมีแผนงานรองรับ ดังนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กร ต้องนำมาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ด้วยกุศโลบายทางจิตวิทยา อย่างชาญฉลาด ปรับจากความไม่รู้ให้เป็นความรู้ จากความรู้ให้เป็นความเข้าใจ จากความเข้าใจให้เป็นการตระหนัก จากการตระหนักให้เป็นสำนึกรับผิดชอบ จากสำนึกรับผิดชอบ ให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ จากธรรมเนียมปฏิบัติ ให้เป็นระเบียบปฏิบัติ จากระเบียบปฏิบัติให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ในที่สุด

              โดยการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากน้อยไปหามาก จากเล็กไปสู่ใหญ่ จากไม่มีไปสู่มี ที่อาศัยระยะเวลา และขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าว ประสานเข้ากับ การ ปฏิบัติ อย่างมีรูปจิตสำนึก ไปพร้อมๆ กัน

              กลยุทธ์จากหลายรูปแบบ จึงต้องนำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน ให้การพัฒนาจรรยาบรรณขององค์กร อีกแนวคิดหนึ่ง คือ การสร้างวินัยองค์กร ให้เป็นองค์กร ที่เรียนรู้ ก็จะช่วยเสริมสร้าง จรรยาบรรณ ให้เกิดขึ้นตามความคาดหวังได้

การควบคุมอย่างต่อเนื่อง การควบคุมเป็นมาตรการ ที่จะกำกับการปฏิบัติการ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การบรรลุผล ที่รวดเร็ว ดังนั้น การวางเงื่อนไข และการจัด สภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง การจัดการปัจจัยภายใน อันเป็นสัดส่วน ที่มีผลสำคัญ ต่อการเปลี่ยนแปลง จึงต้องควบคุมให้เกิดความพอเหมาะพอดี สมดุลย์ หรือดุลยภาพ แห่งการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน อีกประการหนึ่ง ในการพัฒนาจรรยาบรรณขององค์การ

สรุปแนวคิดสำหรับผู้นำการเปลี่ยนแปลง

  • ปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลง
  • ก้าวล้ำนำหน้า หรือ นำการเปลี่ยนแปลง
    • เกาะติดสถานการณ์โลกทุกๆ ด้าน
    • คาดการณ์แนวโน้ม
    • ฉวยโอกาส
    • อาศัยบทเรียนและประสบการณ์ในอดีต
  • ปัจจุบัน เร็วกินช้า (ไม่ใช่ใหญ่กินเล็กเพียงอย่างเดียว) ฉลาดกว่าคือรู้ก่อนเตรียมก่อน จึงต้องรอบรู้มีภูมิปัญญา กล้าตัดสินใจ
  • สามารถคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง
  • บริบทสังคมทุนนิยม

ที่มา / ผู้เขียน โดย : อาจารย์อรุณ สุชาฎา


อัพเดทล่าสุด