มารู้จัก คำว่า “Career” กันเถอะ!


788 ผู้ชม


มารู้จัก คำว่า “Career” กันเถอะ!




คำว่า Career ในทางบริหารมีอยู่ 4 คำหลักๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. Career Path  สายความก้าวหน้า
  2. Career Planning   การวางแผนอาชีพ
  3. Career Development   การพัฒนาสายอาชีพ
  4. Managing Career    การบริหารจัดการงานอาชีพ

สายความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path)

 

             บางคนก็เรียกว่า สายงานอาชีพ หมายถึงทางเดินของหน้าที่การงานและความรับผิดชอบตำแหน่งงานที่คนหนึ่งคนใดถือครองอยู่ เช่น งานราชการ สายของอาชีพราชการก็คือ เริ่มต้นรับราชการ ในระดับตำแหน่งข้าราชการชั้นผู้น้อย ตั้งแต่ระดับ 1,2,3,4,5 และ 6  สูงกว่านี้คือ ตำแหน่ง บริหารระดับต้น คือระดับ 7 (หรือหัวหน้าฝ่าย) สูงกว่าระดับ 7 คือตำแหน่งบริหารดับกลาง ระดับ 8 และ 9 (หรือผู้อำนวยการกอง รองอธิบดี) และผู้บริหารระดับสูงระดับ 10 และ 11 (หรืออธิบดี ระดับ10  และปลัดกระทรวงระดับ 11 ) ถ้าเป็นเอกชน เริ่มจากพนักงานระดับต้น ผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับสูง คล้ายกับทางราชการ ในแต่ละระดับความรับผิดชอบ จะมีระดับตำแหน่ง (Position Level) กำกับซึ่งสามารถสื่อถึงระดับอัตราเงินเดือนในแต่ละระดับ ดังตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ 1  :

โครงสร้างตำแหน่ง

 

               พนักงาน                                             ระดับตำแหน่ง        (Position Level  หรือ PL) 1-5

                  พนักงานอาวุโส                                   ระดับตำแหน่ง        (Position Level  หรือ PL) 6- 7

                  ผู้บริหารระดับต้น                                ระดับตำแหน่ง        (Position Level  หรือ PL) 8-9

                  ผู้บริหารระดับกลาง                             ระดับตำแหน่ง        (Position Level  หรือ PL) 10-11

                  ผู้บริหารระดับสูง                                 ระดับตำแหน่ง        (Position Level  หรือ PL) 12

            การพิจารณาว่า องค์การใดมีสายการบังคับบัญชาที่ยาวหรือไม่ สามารถดูได้จากการจัดระดับตำแหน่ง ถ้ามีหัวหน้างานหลายระดับ เช่นหัวหน้าระดับต้น หัวหน้าระดับกลาง และหัวหน้าระดับสูง รวมทั้งยังพ่วงการบังคับบัญชาระดับรองในตำแหน่งผู้ช่วย .... หรือรอง .. อีกด้วย

                ลักษณะการจัดการสายบังคับบัญชาเช่นนี้คนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ระบบราชการไทยหมายถึงการจัดองค์กรของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ความจริงแล้วการบริหารแบบราชการมีได้ทั้งในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน การบริหารงานแบบราชการจะมีการจัดระบบองค์กรแบบสูง (Tall Organization)  ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสายการบังคับบัญชาและเป็นไปตามหลักการแบ่งกันทำ (Division of Work) ลักษณะการจัดองค์กรแบบสูงมีจุดอ่อนคือความล่าช้าในการสั่งการและการประสานงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าดังกล่าว หลายองค์กรจึงนิยมการจัดองค์กรแบบแบนราบ

                การจัดองค์กรแบบแบนราบ (Flat Organization) จึงจำเป็นต้องลดทอนสายการบังคับบัญชาบางระดับลงแล้วนำอำนาจหน้าที่ ที่ถูกทอนลงไปนั้นไปไว้กับผู้บริหารในอีกระดับ หรือกระจายให้พนักงานรับผิดชอบ การลดทอนสายการบังคับบัญชา เพื่อมุ่งหมายประสิทธิภาพในการประสานงาน การติดต่อสื่อสารและการบังคับบัญชา  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความคล่องตัวในการบริหารงานนั่นเอง ดังกรณีตัวอย่างของธนาคาร ซิตี้แบงก์ เอ็น เอ สาขาประเทศไทย ดูโครงสร้างตำแหน่งตัวอย่างที่ 2 (ได้จัดโครงสร้างตำแหน่งตามหลักการของสำนักงานใหญ่ในอเมริกา เพียงแต่ปรับให้สอดรับกับวัฒนธรรมของไทย) คือเขาจะตัดทอนตำแหน่งพนักงานอาวุโส และผู้บริหารระดับต้นออก หรือบางลักษณะงานจะตัดทอนผู้บริหารระดับกลางออกด้วย  อำนาจการสั่งการบังคับบัญชาจะไปอยู่กับผู้บริหารระดับกลางและสูง ตามลำดับ ดังตัวอย่าง

                ตัวอย่างที่ 2 :

            โครงสร้างตำแหน่ง

          ระดับพนักงาน                           ระดับตำแหน่ง                              วุฒิการศึกษา

                                                                      (Position Level ; PL)

                พนักงาน                                                 PL 2-5                         ปวส.  ถึง ป.ตรี

                ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย                                   PL Q-R                        ป.ตรี มีประสบการณ์ (ขั้นต่ำ 5 ปี)

                ผู้จัดการฝ่าย                                            PL S                            ป.ตรี มีประสบการณ์ (ขั้นต่ำ 10 ปี)

                รองผู้อำนวยการธนาคาร                          PL T-V                        ป.ตรี มีประสบการณ์ (ขั้นต่ำ 10 ปี)

                ข้อสังเกต  ผลลัพธ์จากการลดทอนสายการบังคับบัญชา คือธนาคารได้คนทำงานมากขึ้น มีคนสั่งการน้อยลง ผลที่ตามมาคือทำให้ลดความสับสน ลดความไม่เข้าใจในนโยบายระหว่างผู้บังคับบัญชาในแต่ละระดับ เพราะถ้ามีผู้บังคับบัญชาหลายคน สิ่งที่จะเกิดตามมาและยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ คือความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจของผู้บังคับบัญชาในแต่ละระดับ

                โดยสรุป  เมื่อพูดถึงสายความก้าวหน้า เราจะนึกถึงโอกาสในความก้าวหน้าภายในองค์กรว่าจะมีโอกาสก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด ให้ดูที่โครงสร้างตำแหน่ง (Position Structure) และระบบสนับสนุนที่บริษัทจัดให้เช่น บริษัทส่งเสริมให้มีการศึกษา ฝึกอบรม สัมมนา ตลอดจนการประเมินการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม ฯลฯ หรือไม่แค่ไหนเพียงใด

การวางแผนอาชีพ (Career Planning)  

                การวางแผนเป็นการคิดเผื่อไปข้างหน้า และการคิดนั้นจะต้องมีการจัดระเบียบความคิดไว้ให้รอบด้านอย่างรอบคอบ มิใช่เป็นการคิดชั่วครั้งชั่วคราว หมายความในทางวิชาการ การวางแผนหมายถึงกระบวนการของการตระหนักชุดการตัดสินใจ สำหรับการกระทำในอนาคตด้วยวิถีทางที่ดีที่สุด ดังนั้นการวางแผนอาชีพ จึงหมายถึงการกำหนดอาชีพที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบของตนเอง โดยคิดว่าอาชีพที่ประกอบนั้นจะกระทำได้ดีที่สุด

                 การวางแผนอาชีพย่อมดีกว่าไม่มีการวางแผนอาชีพ คนที่วางแผนอาชีพไว้ย่อมสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นคง ต่างกับคนที่ปล่อยชีวิตแบบวันต่อวัน (Day to Day Lifestyle) ที่ยากจะหาความมั่นคงความแน่นอนในชีวิตได้การวางแผนอาชีพส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล คนที่สร้างความมั่นคงด้วยตนเอง มักจะมีแผนอาชีพของตนเอง ส่วนกลุ่มคนที่พึ่งพิงความมั่นคงจากภายนอก (องค์กร สังคม) ขอบข่ายการวางแผนอาชีพจะแคบกว่า กล่าวคือ สามารถวางแผนได้ภายในกรอบขององค์กร หรือภายใต้โครงสร้างขององค์กร ดังนั้น จึงมีความหมายใกล้เคียงกับการกำหนดสายความก้าวหน้า (Career Path)  ขององค์กรนั่นเอง

                ความเป็นจริงของอาชีพ จะเป็นไปตามแผนการที่วางไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

1.)  พื้นฐานของตัวบุคคล เช่นครอบครัว สังคม ระดับการศึกษา เป็นต้น

2.)  โอกาสความก้าวหน้าในบริษัท หรือองค์กร เช่นบางบริษัทให้โอกาสกับทุกคนที่มีความสามารถ บางบริษัทให้โอกาสผู้อาวุโสมาก่อน บางบริษัทให้โอกาสเฉพาะคนใกล้ชิดและตระกูลฯลฯ

3.)  สภาพเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจะให้โอกาสกับทุกคนเศรษฐกิจขยายตัวสอดคล้องกับปริมาณแรงงานที่เข้าสู่ตลาดหรือตลาดเป็นของแรงงานเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อโอกาสของอาชีพ

การพัฒนาสายความก้าวหน้า  (Career Development)

 

            เมื่อรู้ว่าสายความก้าวหน้าเป็นอย่างไรแล้ว การที่เราจะก้าวในแต่ละระดับตำแหน่งงานได้อย่างไร โดยวิธีการใดได้บ้าง คนที่ครองตำแหน่งในองค์กรย่อมรู้เป็นอย่างดีและยังแสดงให้เห็นว่าคนๆ นั้นเหมาะสมกับตำแหน่งที่ครองอยู่ การที่องค์กรจะเลื่อนพนักงานไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเพื่อให้ความรับผิดชอบมากขึ้นนั้น ถ้าไม่แน่ใจในความสามารถของพนักงานคนที่ถูกเลื่อนขึ้นไปรับผิดชอบงานที่สูงกว่าเดิมย่อมเป็นการเสี่ยงต่อความล้มเหลวขององค์กร  วิธีการเพื่อช่วยลดความเสี่ยงคือ หุ้นส่วน และเจ้าของกิจการจำเป็นจ้องจัดการเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับ ผู้ที่จะถูกเลื่อนไปสู่ระดับตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่นคนที่เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่าย จำเป็นต้องอบรมหลักสูตรพื้นฐาน ได้แก่ หลักสูตรการบังคับบัญชา หลักสูตรการประเมินผลการปฏิบัติงาน หลักสูตรการวางแผน  หลักสูตรการจัดองค์การ หลักสูตรการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

                 กล่าวโดยสรุป การพัฒนาสาย ความก้าวหน้า หมายถึงการผสานเอาแผนการฝึกอบรมและสายความก้าวหน้าเข้าด้วยกัน (Training Planning + Career Path)

                การพัฒนาสายความก้าวหน้าดังกล่าวข้างต้นเป็นการพัฒนาสายความก้าวหน้าโดยองค์กรหรือหน่วยงาน ในทางปฏิบัติพนักงานสามารถพัฒนาสายความก้าวหน้าได้ด้วยตนเอง โดยการศึกษาเรียนรู้จากตำรา คู่มือการปฏิบัติงานจากกระบวนการผลิตของบริษัท จากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือฝึกฝนทักษะด้วยตนเองเป็นที่ประจักษ์ กรณีเช่นนี้ก็สามารถที่จะเลื่อนระดับตำแหน่งได้เช่นกันวิธีการนี้เป็นการปูพื้นฐานและเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดองค์ความรู้ (Learning Organization) ผลที่จะเกิดตามมาคือ สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายทางอ้อมในการพัฒนากำลังคน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 การบริหารจัดการงานอาชีพ  (Managing Careers)

 

             ในหัวข้อ 1 -3 เป็นการกล่าวถึงอาชีพในแง่มุมที่องค์กรจัดการให้ ในการจัดการงานอาชีพนี้มีขอบข่ายความหมายกว้าง โดยพิจารณาทั้งในแง่มุมของการจัดการให้ ในการจัดการงานอาชีพนี้มีขอบขายความหมายกว้าง โดยพิจารณาทั้งในแง่มุมของการจัดอาชีพงานด้วยตนเองและการจัดการอาชีพโดยองค์กรที่ตนสังกัด สรุปความหมายโดยรวมคือ การจัดการงานในหน้าที่ของตนอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในอาชีพ เป็นการนำเอาแนวความคิด ความรู้ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์ มาช่วยจัดการงานหน้าที่ของตนให้ประสบความสำเร็จ ในที่นี้จะศึกษาอย่างละเอียดถึงการจัดการงานอาชีพเพราะมีความสัมพันธ์กับการบริหารงานโดยึดวัตถุประสงค์ (MBO)  และสัมพันธ์โดยตรงกับการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ยึดผลลัพธ์เป็นเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จของงาน เมื่อมีความสำเร็จในงานนั้นก็หมายความได้ว่าเริ่มมีความสำเร็จในงานอาชีพแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นการจัดการงานอาชีพได้ดีหรือไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายมุ่งหวังที่ชัดเจน

1.)  การจัดการงานอาชีพโดยองค์กร  การที่จะให้พนักงานพึงพอใจงานขององค์กรที่ได้จัดสรรให้ มิใช่เรื่องง่าย เพราะต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของพนักงานและเหมาะสมกับความรู้ความสามารถ รวมทั้งการส่งเสริมจากองค์กร กล่าวคือองค์กรต้อสร้างสายอาชีพการงานให้มีเกียรติ มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ดังนั้น การจัดการงานอาชีพโดยองค์กรนั้น เป็นภารกิจของฝ่ายบุคคลที่จะต้องมีการจัดองค์การ  ออกแบบโครงสร้างการบริหารออกแบบโครงสร้างตำแหน่งและโครงสร้างเงินเดือน รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างภาพพจน์ขององค์กรภายใต้ขอบข่ายของการสรรหา เพื่อสร้างความพึงพอใจในอาชีพองค์กร

2.)   การจัดการานอาชีพโดยตนเอง  เริ่มต้นจากการคิดวางแผนบนพื้นฐานความรู้ความสามารถของตนเอง การที่คนเราจะยึดอาชีพใดในเบื้องต้นนั้นต้องคิดถึงข้อดีข้อเสียทุกด้านอย่างรอบคอบ และที่สำคัญต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับองค์กรที่คิดจะฝากอนาคตแม้จะไม่ใช่ตลอดชีวิตก็ตาม เพราะเมื่อเข้าไปสังกัดแล้วมีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จ หรือ อาจจะล้มเหลวพอๆกัน แม้ในองค์กรเปิดโอกาสให้มาก แต่ความสำเร็จนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละคนว่าจะจัดการสายอาชีพของตนเองอย่างไร ความจริงที่ พึงตระหนักอยู่ตลอดเวลาคือ ตำแหน่งงานในองค์กรนั้นมีจำกัด และมีหลายคนมุ่งหวังอยากได้ องค์กรไม่สามารถหยิบยื่นความก้าวหน้าในอาชีพให้ใครได้ ถ้าพนักงานคนๆ นั้นไม่มีความสามารถ

 


อ้างอิงจาก : หนังสือการบริหารทรัพยากรมนุย์ แนวทางใหม่
โดยคุณ ประเวศน์  มหารัตน์สกุล


อัพเดทล่าสุด