การบริหารจัดการสายอาชีพของพนักงานต่างวัย


692 ผู้ชม


การบริหารจัดการสายอาชีพของพนักงานต่างวัย




    พนักงานในบริษัทสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ โดยจำแนกตามอายุคือกลุ่มหนุ่มสาวนับตั้งแต่อายุ 18-34 ปี  กลุ่มวัยกลางคนอายุตั้งแต่ 35- 50 ปี และวัยที่มีอายุตั้งแต่ 51 ปีขึ้นไป (จนปลดเกษียณ) ทั้งสามกลุ่มจะมีวัฒนธรรมวิถีการ ดำเนินชีวิตต่างกันในเนื้อหา ดังต่อไปนี้

        
การจัดการงานอาชีพของคนวัยต่ำกว่า 35 ปี บริษัทจะต้องให้พนักงานเหล่านั้นมีความหวังและมองเห็นภาพรวมขอบริษัท และต้องสร้างวัฒนธรรมเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ การเรียนรู้ในลักษณะพี่เลี้ยงถ่ายทอดให้ หรือการเรียนรู้จากกระบวนการ (Learning by Doing)  จะมีประสิทธิภาพกว่าการจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาให้คำปรึกษา
        การจัดการงานอาชีพของพนักงานวัย 35 -50 ปี บริษัทจะต้องสร้างบรรยากาศให้พนักงานมีความรู้สึกว่ายังมีความใหม่สดอยากทำงานอยู่เสมอกลยุทธ์ที่หลายบริษัทนิยมทำกันคือ ส่งไปอบรมสัมมนาในหลักสูตรทั้งที่เป็นสายงานโดยตรงหรือสายงานบริหาร รวมทั้งสร้างความรู้สึกที่ดีต่อความมั่นคงของบริษัทและจะส่งผลต่อความมั่นคงในครอบครัวในที่สุด การที่กลยุทธ์ดังกล่าวจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่คือ บริษัทต้องกำหนดระบบสวัสดิการทั้งที่เป็นเม็ดเงินและไม่เป็นเม็ดเงิน ที่พนักงานสามารถฝากชีวิตและความมั่นคงของครอบครัวได้สวัสดิการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงในอาชีพการงาน มีดังนี้
1.  ค่ารักษาพยาบาล
2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3. การประกันอุบัติเหตุ
4. การประกันชีวิต
5. เงินทดแทนในกรณีประสบอันตรายระหว่างปฏิบัติงาน
6.เงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่ความตายหรือทุพพลภาพอันเนื่องจากการปฏิบัติงานหรือสืบเนื่องจากการปฏิบัติงาน
7. เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร
8. เงินสงเคราะห์เพื่อที่อยู่อาศัย
9. สหกรณ์ออมทรัพย์
10. เงินช่วยเหลือการจัดงานศพ
     ส่วนพนักงานที่มีอายุมากกว่า 50 ปี นั้นไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง การจะพัฒนาหรือปฏิรูปบริษัท คนกลุ่มนี้จะต่อต้าน คัดค้าน แต่ขณะเดียวกันกลุ่มคนเหล่านี้จะมากด้วยประสบการณ์ พนักงานสามารถเรียนรู้จากคนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
     โดยสรุปแล้วบริษัทจะต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการอาชีพของตน 3 กลุ่มนี้ ด้วยวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้มีเป้าหมายร่วมกันคือไม่ให้พนักงานมีความรู้สึกและยึดมั่นกับวิธีการเก่าๆ การยึดมั่นวิธีการเก่าๆ หากพิจารณาให้ลึกแล้วก็คือตัวการต่อต้านการพัฒนา กระบวนการทำงานใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่นั่นเองการพัฒนาสายงานอาชีพจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้าง กล่าวคือพนักงานต้องมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ย่อท้อหมดกำลังใจ (Self – Motivation) รวมทั้งบริษัทต้องเปิดโอกาส และมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานพอสมควร (Flexibility)  โดยพนักงานได้แสดงความรู้ ความสามารถ การมีความยืดหยุ่นเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานอย่างมีเป้าหมาย กล่าวคือบริษัทไหนมีความเข้มงวดในระเบียบกฎเกณฑ์มากจะทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ และไม่เหมาะสมกับองค์กรที่บริหารงานโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)  หรือการทำงานแบบยึดเอาผลลัพธ์เป็นเป้าหมายในการทำงาน (Result – Oriented)


อัพเดทล่าสุด