การประเมินภาวะของผู้รับการอบรมก่อนการฝึกอบรม
การประเมินภาวะของผู้รับการอบรมก่อนการฝึกอบรม
การประเมินความสามารถในการรับการฝึกอบรม (trainability tests) เพื่อทำนายผลการเรียนรู้ก่อนเข้ารับการฝึกอบรม สามารถกระทำได้หลายรูปแบบ ทั้งในรูปของการใช้แบบทดสอบ และการทำตัวอย่างงาน (Job sample) ตัวอย่างงาน เช่น โรงเรียนสอนการดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ได้ใช้มาตรวัดความเชื่อมั่นของผู้เข้ารับการอบรม เพื่อทำนายผลการเรียนในโครงการฝึกอบรม 10 สัปดาห์ผลของการศึกษาพบว่า ระดับความเชื่อมั่นของผู้เข้ารับการอบรม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสำเร็จในการฝึกอบรม (Ryman & Biersner, 1975)
ตัวอย่าง ข้อคำถามเพื่อใช้ในการประเมินผู้รับการฝึกอบรมก่อนการฝึกอบรม
- ถ้าฉันมีปัญหาระหว่างการฝึกอบรม ฉันจะพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม
- ฉันมีโอกาสที่จะสอบผ่านการฝึกอบรมนี้สูงกว่าคนอื่นๆ โดยส่วนมาก
- ฉันสมัครเข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ความรู้และประสบการณ์ที่ฉันได้รับจากการฝึกอบรมนี้ อาจจะทำให้อาชีพการงานของฉันก้าวหน้าขึ้น
- ฉันได้รับสิ่งต่างๆ จากการฝึกอบรมนี้มากกว่าคนอื่นๆ โดยส่วนมาก
สำหรับการให้ทดลองทำตัวอย่างงาน ก็สามารถทำนายผลการเรียนรู้ของผู้รับการอบรมได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกัน กอร์ดอนและโคเฮน (Gordon&Cohen,1973) ได้ให้ผู้รับการฝึกอบรมซึ่งเข้ารับการอบรมการเชื่อมโลหะ ทำตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ชิ้น ซึ่งได้รับการจัดลำดับจากง่ายไปหายาก ปรากฏว่าระยะเวลาที่ผู้รับการอบรมใช้ในการทำงานสี่ชิ้นแรก สามารถใช้ทำเป็นตัวทำนาย ถึงระยะเวลาที่ผู้รับการอบรมต้องใช้ในการเรียนทั้งหลักสูตรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การวิเคราะห์แบบสรุปรวม (meta-analysis) ซึ่งวิเคราะห์ผลการวิจัยกว่า 20 ปี ก็ได้พบว่าการทำงานผลการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ช่างไม้ ช่างเชื่อม ช่างเย็บ ผู้บังคับรถยก ช่างก่ออิฐ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป การประเมินภาวะของผู้รับการอบรมก่อนการฝึก จะช่วยให้สามารถทราบว่าบุคคลใดมีความสามารถและแรงจูงใจที่เหมาะสม และมีแนวโน้มที่จะเป้าหมายความสำเร็จ ในกรฝึกอบรม การประเมินเช่นนี้จะทำให้การฝึกอบรมตรงกับ กลุ่มเป้าหมาย มีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุดแก่องค์การ
การฝึกอบรมบุคลากรในองค์การ
โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ชูชัย สมิทธิไกร