ปัญหาอันเกิดจากการเลื่อนชั้นตำแหน่ง
ปัญหาอันเกิดจากการเลื่อนชั้นตำแหน่ง
ปัญหาทางการบริหารและมนุษยสัมพันธ์ที่มักจะเกิดขึ้นจากการเลื่อนชั้นตำแหน่งนั้นมีหลายประการด้วยกัน กล่าวโดยย่อ คือ
1. จะทำให้บุคคลบางคนต้องผิดหวัง
ในกรณีนี้จะเป็นปัญหาอย่างมากกับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะที่มีการศึกษาที่สูงพอ ซึ่งในเมื่อได้เข้ามาทำงานแล้วก็หวังที่จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ถ้าหากพลาดโอกาสดังกล่าวย่อมทำให้ทัศนคติของผู้นั้นเป็นไปในทางที่ไม่ดี ดังนั้นผู้บริหารจึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยการมุ่งพยายามกำหนดหรือหาหนทางกำหนดให้มีแผนการเลื่อนชั้นที่ชัดแจ้งและพยายามให้มีการควบคุมเพื่อเป็นหลักประกันได้ว่าบุคคลผู้มีความสามารถตามเกณฑ์จะไม่ถูกมองข้าม นั่นคือ ให้ความมั่นใจว่าในการพิจารณานั้น แม้จะมีการพิจารณาในเรื่องอาวุโสประกอบ ก็ยังคงถือเอาเรื่องของผลงานหรือความสามารถเป็นตัวพิจารณาควบคู่อยู่ด้วยเสมอโดยไม่แยกจากกัน แต่อย่างไรก็ตามก็มีข้อพึงต้องระมัดระวังที่ระบบดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้บุคคลที่อยู่ในข่ายถูกพิจารณาต้องพลาดโอกาสไปครั้งแล้วครั้งเล่า
2. อาจจะมีบุคคลบางคนปฏิเสธการเลื่อนชั้น
กล่าวคือ ไม่แน่เสมอไปที่คนทุกคนต้องการความก้าวหน้า หลายคนกลับพยายามจำกัดและยอมรับตัวเองว่าอาจจะไม่สามารถทำงานที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นและยากขึ้นได้ โดยเฉพาะบุคคลซึ่งมีอายุมากขึ้น และมีบุตรหลานที่เติบโตแล้ว ซึ่งมักจะมีความคิดในการดำเนินชีวิตไปในอีกแบบหนึ่ง และมีทัศนคติที่จะไม่มุ่งหวังการเติบโตเลื่อนชั้นอย่างรวดเร็วในองค์การที่ทำงานอยู่ และอาจจะนิยมชมชอบที่จะอยากอยู่อย่างสบายตามสมควรหรือต้องการมีเวลามากๆ ไม่หนักสมองและไม่เหนื่อยกายเหนื่อยใจ กรณีเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างมากกับพนักงานด้านฝ่ายปฏิบัติการที่ใช้แรงงานโดยเฉพาะในทางการผลิตบางครั้งก็อาจจะเห็นได้ว่าการเลื่อนชั้นไปนั้น สิ่งที่ได้เพิ่มอาจจะไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อยยาก
3. อาจมีปัญหาที่ผู้บังคับบัญชาของพนักงานที่จะได้เลื่อนชั้นไม่ยอมให้พนักงานของตนเลื่อนชั้น
ในเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นประสบการณ์ของหลายแห่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสาเหตุเพราะความเห็นแก่ตัวของหัวหน้างานที่มักถือเหตุผลที่ตนเป็นผู้ฝึกพนักงานนั้นมาด้วยตนเอง และยังมิทันได้ใช้งานคุ้มก็ถูกเลื่อนชั้นไปในหน่วยงานอื่น ซึ่งอาจจะทำให้ผลงานในแผนกของตัวเสียหายเพราะการต้องเสียผู้มีความสามารถไป นอกจากนี้ในบางแห่งอาจจะเป็นเรื่องทางการเมืองที่หวังจะสร้างอาณาจักร และการสูญเสียคนไปนั้นเท่ากับจะทำให้ความสำคัญของหน่วยงานของตนลดลงไป นั่นก็คือ ความรู้สึกไม่มั่นคงในตัวเองมักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ขาดคนที่เป็นมือสำคัญออกไป ทางแก้ในเรื่องนี้ก็คงอยู่ที่ฝ่ายจัดการระดับสูงที่จะต้องหาหนทางแก้ไขโดยต้องมีการยอมรับ และให้เป็นคุณความดีของหัวหน้างานที่ได้มีส่วนในการพัฒนาพนักงาน จนกระทั่งมีความสามารถในการช่วยให้ลูกน้องได้เลื่อนชั้นต่อไปได้ ซึ่งอาจจะช่วยได้บ้างที่จะให้หัวหน้างานดังกล่าวยอมรับปล่อยให้ลูกน้องย้ายไปอยู่ในหน่วยงานอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการของฝ่ายจัดการระดับสูง การมีศิลปะในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
4. ปัญหาเรื่องความยุติธรรมในการเลื่อนชั้น
เป็นปัญหาสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นที่โต้แย้งว่ายุติธรรมเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อขัดแย้งนี้มักจะเกิดขึ้นกับพนักงานสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน เช่น วิศวกรรม นักวิจัย นักสถิติ หรือนักเคมี เหล่านี้ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการที่ลึกซึ้งเฉพาะแต่ละอย่างเท่านั้น และมักจะมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกันกับอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้มีความรู้ทั่วๆไป ซึ่งจะมีโอกาสดีกว่าที่จะได้รับเลื่อนไปอยู่ตำแหน่งบริหารได้เร็วกว่า ในเรื่องนี้การจะให้ความสำคัญกับด้านใดมากกว่านั้น ในทางปฏิบัติข้อโต้แย้งย่อมมีได้มาก แต่ในเหตุผลความจำเป็นจริงแล้ว การเป็นนักบริหารที่จะต้องรู้รอบด้านกับมีความเข้าใจและประสบการณ์หลายๆด้าน มักจะเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นสำหรับช่วยให้เกิดความสำเร็จในทางบริหารได้มาก การแก้ไขในเรื่องนี้ในบางแห่งมักจะมีวิธีแก้ไขโดยจัดให้มีการเลื่อนชั้นคู่ขนานกันไป นั่นคือ ได้มีการกำหนดชั้นของการจ่ายเงินเดือนของกลุ่มผู้ชำนาญการหรือผู้ที่มีความสามารถเฉพาะอย่างให้มีโอกาสขยับชั้นสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งในสายงานทั่วไปแล้ว การได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกันก็จะมีน้อยลงหรือหมดไป
ที่มา: การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (ฉบับปรับปรุงใหม่ พิมพ์ครั้งที่ 11 ) โดย รศ.ธงชัย สันติวงษ์