การปลดอกและการเรียกพนักงานกลับเข้ามาทำงานใหม่
การปลดอกและการเรียกพนักงานกลับเข้ามาทำงานใหม่
ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับองค์การธุรกิจในระบบเสรีนิยมก็คือ การต้องมีการปรับตัวของธุรกิจตามปริมาณผลผลิตและสภาวการณ์ ซึ่งธุรกิจบางแห่งอาจจะมีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงทั้งในทางมากขึ้นหรือลดลง และมักจะมีผลมาจากการกระทบจากตลาดเงิน ตลอดจนสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ถ้ามิได้มีระบบหรือนโยบายที่เกี่ยวกับการปลดออกที่แน่นอนและการขาดการประสานงานอย่างแท้จริงแล้ว ก็มักจะทำให้การปรับตัวภายในระบบระหว่างหน่วยงานต่างๆ มิได้เป็นไปในทางที่ดี ซึ่งจะก่อให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก การปลดพนักงานหรือการปลดออก หมายถึง “กรณีของการให้คนงานออกโดยไม่มีกำหนดและงดจ่ายค่าจ้างเงินเดือน ซึ่งสาเหตุมักจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของพนักงาน”
สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ เช่น ยอดขายตกต่ำ การขาดแคลนวัตถุดิบ หรือการผกผันตามฤดูกาลของตลาด ตลอดจนการล่าช้าในการผลิตและการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากได้มีการนำเอาเทคโนโลยีและเครื่องจักใหม่ๆ มาใช้
ในขณะที่พนักงานถูกปลดออกนั้น ส่วนมากนายจ้างไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะต้องกระทำเป็นระยะเวลายาวนานเท่าใด เพื่อที่จะได้มีโอกาสเรียกพนักงานกลับเข้ามาทำงานใหม่ ซึ่งมักจะทำให้หลายกรณีที่ตั้งใจจะปลดเพียงชั่วคราวนั้นต้องกลายเป็นลาออกอย่างถาวร เพราะเนื่องจากการผลิตตกต่ำเป็นช่วงระยะเวลานานจนไม่สามารถับพนักงานกลับเข้ามาใหม่ ในเรื่องของการปลดพนักงานออกนี้เป็นเรื่องที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการไล่ออก กล่าวคือ ในกรณีของการไล่ออกนั้นถือเป็นกรณีแน่ชัดที่บุคคลผู้นั้นจะต้องแยกขาดออกจากงานในปัจจุบัน เพราะผลงานตกต่ำหรือเพราะการกระทำผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
การปฏิบัติเกี่ยวกับการปลดพนักงานออกนั้น วิธีปฏิบัติมักจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละแห่ง ในบางแห่งนั้นนายจ้างอาจจะทำการปลดพนักงานออกโดยยังมีข้อสัญญา หรือการให้สิทธิแก่พนักงานดังกล่าวที่จะพิจารณารับเข้ามาก่อน และในบางแห่งได้มีการให้บวกหรือคิดเวลาต่อเนื่องจากที่ได้เคยทำมาด้วย และยิ่งกว่านั้นในบางที่ยังอาจให้น้ำหนักความสำคัญของการปลดออกชั่วคราว ที่จะยังคงให้มีโอกาสได้รับผลประโยชน์บางส่วน เช่น ถือเป็นการลาพัก หรือยังคงให้เงินสะสมตลอดจนการให้การรักษาพยาบาล หรือบางทีได้มีการจ่ายค่าตอบแทนในอัตราขั้นต่ำด้วย ซึ่งทั้งนี้จะทำให้แตกต่างกันเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ของแต่ละแห่งและทัศนะขององค์การและฝ่ายจัดการ แต่ส่วนมากแล้วนายจ้างมักจะหวังผลที่ยังคงอยากจะมีช่องทางติดต่อพนักงานเก่าที่ดีๆ ของตนมากกว่าการตัดขาดจากกันทันที ทั้งนี้เพราะพนักงานเดิมที่เคยทำมาก่อนนั้นจะมีความเข้าใจงานดีอยู่แล้วที่ไม่จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการปลดออกที่ได้ทำเป็นเวลานานๆ นั้น ในแง่ของพนักงานที่รอไม่ได้ก็มักจะต้องไปหางานใหม่และทำให้กลายเป็นการลาออกอย่างถาวรในที่สุด ในการพิจารณารับพนักงานกลับมาใหม่นั้น หลักการที่มักจะปฏิบัติโดยทั่วไปก็คือ การยึดถือตามกลักอาวุโสที่จะเรียกพนักงานที่เคยทำงานมานานที่สุด ให้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานเป็นกลุ่มแรกก่อนกลุ่มที่มีอายุงานน้อยกว่า
ที่มา : รองศาสตราจารย์ ธงชัย สันติวงษ์