การประเมินผลงานฝึกอบรม : วิธีการในการประเมินโครงการฝึกอบรม "ตามหลักของ วิธีเนื้อหา ปัจจัยนำเข้า ปฏิกิริยา และผลลัพธ์ (Context , Input, Reaction and Out come)"


834 ผู้ชม


การประเมินผลงานฝึกอบรม : วิธีการในการประเมินโครงการฝึกอบรม "ตามหลักของ วิธีเนื้อหา ปัจจัยนำเข้า ปฏิกิริยา และผลลัพธ์ (Context , Input, Reaction and Out come)"




        ปัจจุบันมีผู้ให้ความสำคัญและความสนใจในการติดตามและตรวจสอบผลการฝึกอบรมมากว่าในอดีต เนื่องจากความตื่นตัวของผู้บริหารที่จะต้องบริหารองค์กรให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการปรับโครงสร้างการบริหารงานให้มีการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเกิดผลสูงสุด ทำให้มีผู้พัฒนาเทคนิคและวิธีการประเมินโครงการฝึกอบรมออกมาหลายรูปแบบ โดยที่เราจะกล่าวถึงแนวทางหรือวิธีการในการประเมินโครงการฝึกอบรมที่นิยมใช้งาน ต่อไปนี้

 

วิธีเนื้อหา ปัจจัยนำเข้า ปฏิกิริยา และผลลัพธ์ (Context , Input, Reaction and Out come)  หรือที่เรียกว่า วิธีการแบบ CIRO  เป็นแนวทางตามการสนองของ Peter Warr, Michael Bird  และ Neil Rackham ซึ่งเป็นแนวทางที่กว้างกว่าการประเมินทั่วๆไป โดยพิจารณาเรื่องที่จะประเมินออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

การประเมินผลงานฝึกอบรม : วิธีการในการประเมินโครงการฝึกอบรม "ตามหลักของ วิธีเนื้อหา ปัจจัยนำเข้า ปฏิกิริยา และผลลัพธ์ (Context , Input, Reaction and Out come)"

1.การประเมินบริบท (Context Evaluation) เป็นการประเมินที่อาศัยการเก็บและใช้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะการดำเนินงานปัจจุบันหรือบริบทโดยการกำหนดความคิดทางการฝึกอบรมและวัตถุประสงค์ การประเมินบริบทจะมุ่งกำหนดว่า จำเป็นที่จะต้องมีการฝึกอบรมหรือไม่ ซึ่งผู้ประเมินอาจแบ่งวัตถุประสงค์ของการประเมินออกเป็น 3 ประเภท คือ

        1. วัตถุประสงค์บั้นปลายหรือสูงสุด (Ultimate Objectives) หมายถึง ความต้องการหลักในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น สิ่งบกพร่องที่องค์กรต้องการจะให้โครงการฝึกอบรมแก้ไข ขจัดให้หมดไป เป็นต้น

        2. วัตถุประสงค์กลาง (Intermediate Objectives) เช่นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของผู้เข้ารับการอบรมที่จำเป็นหากต้องการบรรลุเป้าหมาย

        3. วัตถุประสงค์ปัจจุบัน (Immediate Objectives) เช่นความรู้ ทัศนคติและทักษะใหม่ที่ผู้เข้ารับการอบรมต้องเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปตามที่ต้องการ หากต้องการจะบรรลุเป้าหมายกลาง

2. การประเมินปัจจัยนำเข้า (Inputs Evaluation) เป็นการประเมินที่อาศัยข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่ใช้ในการฝึกอบรม เพื่อการศึกษาทางเลือกระหว่างปัจจัยนำเข้าของโครงการฝึกอบรม การประเมินปัจจัยนำเข้าเป็นการประเมินว่ามีทรัพยากรอะไร และจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไรถึงจะมีโอกาสมากที่สุดในการบรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้เพราะงบประมาณและความต้องการทางด้านการจัดการ อาจไม่เปิดโอกาสให้ใช้ทางเลือกบางอย่างที่ต้องการได้ โดยที่คำถามในเรื่องนี้มักจะมุ่งที่ประเด็นดังต่อไปนี้

        -    ข้อดีและข้อเสียเชิงเปรียบเทียบของวิธีการต่างๆมีอะไรบ้าง

        -    เป็นไปได้หรือไม่ที่องค์การภายนอกจะทำการฝึกอบรมได้ดีกว่า

        -    ควรจะทำการฝึกอบรมโดยใช้ทรัพยากรภายในหรือไม่

        -    ควรให้มีองค์การหรือสายงานเกี่ยวข้อทำหรือไม่

        -    มีเวลาเพียงพอสำหรับโครงการหรือไม่

        -    องค์กรได้ผลอะไรบ้างจากการมีโครงการดังกล่าว

        เราจะเห็นว่า การประเมินปัจจัยนำเข้าจะมุ่งไปที่กระบวนการหาข้อมูลและใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินเกี่ยวกับวิธีการดำเนินโครงการ

3. การประเมินปฏิกิริยา (Reaction Evaluation) เป็นการประเมินที่ให้ความสำคัญไปที่ปฏิกิริยาของผู้เข้าอบรมในตอนสิ้นสุดหรือการติดตามประเมินผล โดยลักษณะพิเศษของการประเมินปฏิกิริยา คืออาศัย การรายงานเชิงนามธรรม (Subjective Report) ของผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งมีประโยชน์ต่อการให้ข้อมูลย้อนกลับ หากมีการรวบรวมอย่างเป็นระบบ

4. การประเมินผลลัพธ์ (Outcomes Evaluation) เป็นการประเมินที่มุ่งเก็บ ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ เพื่อใช้ปรับปรุงโครงการในอนาคต ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สำคัญของการประเมิน ถ้าจะให้การประเมินดังกล่าวประสบความสำเร็จ ผู้ประเมินจำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบก่อนที่โครงการจะเริ่ม โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

                1.  กำหนดวัตถุประสงค์แนวโน้ม (Trend Objectives)

                2. การเลือกหรือการสร้างมาตรวัดวัตถุประสงค์

                3. ทำการวัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม

                4. ประเมินผลลัพธ์และใช้ในการปรับปรุงโครงการในเวลาต่อมา

         เราย่อมเห็นว่าการกำหนดผลลัพธ์ของการฝึกอบรมจะทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ถ้าเราจัดลำดับขั้นตอนของวัตถุประสงค์ในปั้นปลาย ระยะกลางและปัจจุบัน โดยการประเมินอาจดำเนินการวัดทันทีที่สิ้นสุดโครงการตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โครงการที่ประสบความสำเร็จจะต้องสามารถสร้างการเรียนรู้ โดยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมอบรมให้ไปไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และคงอยู่ในระยะยาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจวัดได้ในแต่ละส่วนหรือองค์กรทั้งหมด


ข้อมูลอ้างอิง : การประเมินผลงานฝึกอบรม

 

โดย  : ดร. ณัฎฐพงษ์ เขจรนันทน์

อัพเดทล่าสุด