ขั้นตอนในการปรับเลื่อนตำแหน่ง


1,194 ผู้ชม


ขั้นตอนในการปรับเลื่อนตำแหน่ง

 

 

การปรับเลื่อนตำแหน่งเพื่อไปรับผิดชอบงานในระดับสูงถัดขึ้นไปนั้น ในทางปฏิบัติจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  คัดสรรพนักงานผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง

พนักงานผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณาเพื่อประเมินความเหมาะสมในการเลื่อนระดับตำแหน่ง จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้น เพื่อคัดสรรพนักงานที่มีความเหมาะสม เพื่อเข้าสู่กระบวนการในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป หลักเกณฑ์ที่นำมาพิจารณาเป็นเกณฑ์ในการคัดสรรเบื้องต้นได้แก่

1.)  เป็นผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานติดต่อกัน อย่างน้อย กี่ปี (2 หรือ 3 ปี) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กร

2.)   เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญในหน้าที่เป็นอย่างดี สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สูงกว่าได้

3.)  เป็นผู้ที่มีความชำนาญในตำแหน่งหน้าที่เป็นอย่างดี หรือมากกว่าตำแหน่งที่ดำรงอยู่

4.)  ลักษณะงานในตำแหน่งใหม่เหมาะสมกับคุณสมบัติของพนักงานที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนระดับตำแหน่ง

5.)  เป็นผู้ที่ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีวัตถุประสงค์เพิ่มพูนความรู้และเติมทักษะสำหรับตำแหน่งงานในระดับที่สูงขึ้น

6.)  เป็นผู้ที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่ากึ่งกลางกระบอกของระดับงานที่ครองอยู่  คุณสมบัติข้อนี้ไม่ควรนำมาใช้ในกรณีที่โครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนมีขอบข่ายการกระจายจากค่าต่ำสุดถึงค่าสูงสุดมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 60 หรือองค์กรที่จัดตั้งใหม่  โอกาสที่พนักงานจะมีเงินเดือนสูงกว่ากึ่งกลางกระบอกคงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะเป็นการปิดกั้นพนักงานที่อายุงานในตำแหน่งไม่มากแต่มีความสามารถสูง ก็จะไม่มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนระดับตำแหน่งเพราะจะขัดกับคุณสมบัติข้อนี้

ในปีหนึ่งๆ กลุ่มคนที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์พิจารณาตามขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 จะมีจำนวนไม่มากจึงอยู่ในวิสัยที่งบประมาณที่กันเพิ่มเติมจากงบปรับค่าจ้างเงินเดือนประจำปีไว้ 2 เปอร์เซ็นต์ น่าจะเพียงพอและในการประเมินความเหมาะสมเพื่อพิจารณาเลื่อนตำแหน่งนั้น ควรมีการแบ่งเป็นกลุ่มระดับงาน โดยใช้เครื่องมือในการทดสอบ ประเมินความเหมาะสมที่แตกต่างกันในรายละเอียดของปัจจัยที่ใช้ประเมิน เช่น การเลื่อนตำแหน่งพนักงานระดับปฎิบัติการ ควรที่จะต้องมีการทดสอบหรือไม่ การเลื่อนตำแหน่งพนักงานระดับบริหารจะต้องมีการทดสอบแค่ไหนเพียงใด และแต่ละระดับงานใครเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ  เงื่อนไขเหล่านี้ควรกำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติขององค์กร

ขั้นตอนที่ 2  การประเมินความเหมาะสมเพื่อพิจารณาระดับเลื่อนตำแหน่ง

โดยทั่วไป จะแบ่งกลุ่มพนักงานเป็น 2 ระดับในการประเมินความเหมาะสมเพื่อพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเหตุผลที่ต้องแบ่งเป็น 2 ระดับเพราะค่างานต่างกัน การประเมินความเหมาะสมไม่ควรใช้กรรมวิธีถือกฎเกณฑ์ที่เหมือนกันทุกกรณี

พนักงานระดับปฏิบัติการ ให้ใช้ แบบประเมินความเหมาะสมเพื่อพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ที่ใช้ปัจจัยให้ครอบคลุมคุณสมบัติตามขั้นตอนที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกณฑ์ 1 -5 โดยผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสม และอาจะมีขั้นตอนการสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการเพิ่มอีกก็ได้  หรือไม่ต้องมีการประเมินความเหมาะสม  หากแต่ให้เลื่อนไหลได้เมื่ออายุงานในตำแหน่งครบ ดังกรณีระบบลื่นไหลของข้าราชการระดับ  3 ระดับ 4 และระดับ 5 ก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กร

กลยุทธ์การบริหารค่าจ้างเงินเดือน
โดย : ประเวศน์  มหารัตน์สกุล


อัพเดทล่าสุด