ข้อพิจารณา ในการให้พนักงานขององค์การร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ประเมินค่างาน
ข้อพิจารณาในการให้พนักงานขององค์การร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ประเมินค่างาน
หลังจากที่ได้แจ้งให้ทุกฝ่ายได้ทราบถึงแผนการของการประเมินค่างานแล้ว สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อมาคือหน่วยงานใด ควรจะเป็นผู้ทำการประเมินค่างาน ในเรื่องนี้ Elizabeth Lanham ได้เสนอทางเลือกและผลดีผลเสียของแต่ละทางเลือกไว้ คือ
ข้อได้เปรียบ
- ทำให้กลุ่มผู้ประเมินค่างานได้รู้และเข้าใจทุกแง่มุมในองค์การเป็นอย่างดี
- ทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในภารกิจนี้ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้อคติต่างๆที่มีอยู่ ในกลุ่มผู้ประเมินค่างานมีน้อยลง
- ช่วยให้พนักงานภายในองค์การได้เรียนรู้และปฏิบัติงานของการประเมินค่างานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะช่วยให้บุคคลเหล่านั้นสามารถปฏิบัติงานต่อเนื่องไปได้
- ช่วยลดระยะเวลาของการประเมินค่างานให้สั้นลง
ข้อเสียเปรียบ
- อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ปรึกษากับพนักงานขององค์การที่ให้ปฏิบัติงานร่วมกัน ความเห็นของทั้งสองฝ่ายอาจไม่ลงรอยกันได้
- อาจเกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ต่างฝ่ายอาจแย้งกันในเรื่องของอำนาจหน้าที่ และต่างก็พยายามปัดความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน
- ค่าใช้จ่ายในการนี้ย่อมสูง คือต้องจ่ายให้แก่บริษัทที่ปรึกษาและยังต้องจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานภายในองค์การอีกด้วย
ในกระบวนวิธีการทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น วิธีสุดท้ายค่อนข้างจะได้รับความนิยมมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามต้องดูถึงสภาพขององค์การของแต่ละแห่งอีกด้วย กล่าวคือ ถ้าเป็นองค์การขนาดเล็ก มีปริมาณและประเภทของงานเพียงไม่กี่อย่าง การจ้างบริษัทที่ปรึกษาก็อาจจะสิ้นเปลืองเกินกว่าองค์การนั้นจะจ่ายได้
ดังนั้นอาจจะให้พนักงานของตนพอที่มีความรู้อยู่บ้างให้ทำหน้าที่ประเมินค่างาน แต่คุณภาพของการประเมินค่างานดังกล่าวอาจจะไม่ดีนักเนื่องจากพนักงานดังกล่าวอาจจะขาดประสบการณ์ทางด้านนี้ ส่วนในกรณีที่เป็นองค์การขนาดใหญ่หรือองค์การที่มีการขยายงานอยู่ตลอดเวลาการประเมินค่างานต้องมีอย่างสม่ำเสมอ การจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้ทำการประเมินค่างานจึงค่อนข้างสิ้นเปลือง และยังขาดความต่อเนื่องอีกด้วย ลักษณะเช่นนี้จึงควรจัดตั้งฝ่ายหรือแผนกประเมินค่างานขึ้นเป็นขององค์การเองเพื่อรับผิดชอบในเฉพาะเรื่องนี้ แต่โดยทั่วไปฝ่ายหรือแผนกประเมินค่างานนี้มักจะมีขนาดเล็กเพราะใช้พนักงานเพียงไม่กี่คน ดังนั้นจึงควรให้ไปสังกัดกับฝ่ายอื่นๆ เช่น อาจจะสังกัดอยู่กับฝ่ายบริหารงานบุคคล หรือฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ เพราะทั้งสองฝ่ายนี้จะรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมดูแลพนักงานขององค์การอยู่แล้ว
ภายในฝ่ายหรือแผนกประเมินค่างานนั้นควรจะมีผู้รับผิดชอบเป็นหัวหน้างานเพียงคนเดียวและอาจมีผู้ช่วยหรือพนักงานร่วมด้วยตามแต่ปริมาณงานที่มีมากน้อยเพียงไร นอกจากนั้นยังอาจจะมีคณะกรรมการที่ปรึกษาที่จะให้คำแนะนำหรือให้ความร่วมมือในลักษณะอื่นๆ ก็ได้ตามแต่สมควร แต่ข้อดีของการมีคณะกรรมการที่ปรึกษาคอยช่วยเรื่องการประเมินค่างานนั้นมีอยู่ 2 ประการที่สำคัญ
ประการแรก ทำให้ได้ข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งได้รับรู้ทัศนคติและความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพื่อประกอบการตัดสินใจ
ประการที่สอง ทำให้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ มากขึ้น โดยที่บุคคลเหล่านั้นจะเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของงานประเมินค่างานด้วย ถ้าเกิดความล้มเหลว เมื่อไรตนเองก็ย่อมจะปฏิเสธความรับผิดชอบร่วมไม่ได้ นอกจากนั้นถ้าเปิดโอกาสให้ผู้นำกรรมกรหรือผู้นำสหภาพแรงงานเข้าร่วมเป็นกรรมการแล้ว โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องค่าตอบแทนย่อมน้อยลง