ข้อพิจาณาในการให้พนักงานขององค์การเป็นผู้ประเมินค่างาน
หลังจากที่ได้แจ้งให้ทุกฝ่ายได้ทราบถึงแผนการของการประเมินค่างานแล้ว สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อมาคือหน่วยงานใด ควรจะเป็นผู้ทำการประเมินค่างาน ในเรื่องนี้ Elizabeth Lanham ได้เสนอทางเลือกและผลดีผลเสียของแต่ละทางเลือกไว้ คือ
ข้อได้เปรียบ
- พนักงานเหล่านั้นรู้เรื่ององค์การ กระบวนการของการปฏิบัติงาน วัฒนธรรมและความเชื่อ ตลอดจนบุคลิกภาพของเพื่อนพนักงานเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงสามารถทำการประเมินผลไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมาเสียเวลาศึกษาเริ่มต้นกันใหม่
- การเปิดโอกาสให้พนักงานเหล่านั้นทำการประเมินค่างานจะช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมดีขึ้น พนักงานเหล่านั้นจะมีความรู้สึกว่างานของการประเมินค่างานเป็นงานของตนเอง ดังนั้นย่อมมีความกระตือรือร้นและเต็มใจที่จะรับผลของการประเมินค่างานมากกว่าวิธีการอื่นๆ
- เมื่อพนักงานขององค์การเองเป็นทั้งผู้เสนอแผนและดำเนินการตามแผนการของการประเมินค่างานแล้วย่อมเข้าใจในแผนเป็นอย่างดี โอกาสของความผิดพลาดย่อมลดลง
- เนื่องจากการประเมินค่างานเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องและมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสมอให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตขององค์การ การให้พนักงานขององค์การดำเนินงานในเรื่องนี้จะช่วยให้งานดังกล่าวมีความต่อเนื่องไปได้
ข้อเสียเปรียบ
- การที่พนักงานขององค์การทำหน้าที่ประเมินค่างานของพวกเดียวกันเองย่อมทำให้ขาดความเป็นกลาง ทั้งนี้เพราะพนักงานเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งขององค์การ ถูกครอบงำโดยประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อที่มีอยู่ในองค์การนั้น นอกจากนั้นอาจมีพนักงานบางคนที่อยู่ในกลุ่มผู้ประเมินผลนั้นมีปัญหาความขัดแย้งกับพนักงานอื่นๆ ดังนั้นจึงอาจจะมีอคติในการประเมินค่างานได้ ทั้งนี้ยังรวมถึงความรู้สึกอื่นๆ เช่น ความซื่อสัตย์ ความรักพวกพ้อง ความโลภ ความหลง และอื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่าขณะปฏิบัติงาน ผู้ประเมินจะพยายามทำตัวเองเป็นกลางก็ตาม แต่เวลาลงมือปฏิบัติการจริงๆ ก็ยากแก่การทำได้
- พนักงานภายในองค์การอาจจะรู้เรื่องกระบวนการทำงานในองค์การดี แต่ ความชำนาญในเรื่องการประเมินค่างานอาจไม่มีมากนักก็ได้
- พนักงานเหล่านี้โดยปกติจะมีงานประจำของตนอยู่แล้ว การที่จะให้บุคคลเหล่านั้นมาช่วยประเมินค่างานย่อมส่งผลกระทบต่องานประจำของตนไม่มากก็น้อย