คุณสมบัติของผู้บริหารค่าจ้างและเงินเดือน


2,263 ผู้ชม


คุณสมบัติของผู้บริหารค่าจ้างและเงินเดือน

การบริหารค่าจ้างและเงินเดือนนั้นจัดได้ว่าเป็นวิชาชีพประเภทหนึ่งคล้ายกับอาชีพแพทย์ วิศวกร สถาปนิก หรือนักการบัญชี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับภาระหน้าที่ของตน แต่ความเป็นวิชาชีพของการบริหารค่าจ้างและเงินเดือนอาจจะไม่เด่นชัดเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ข้างต้น เหตุนี้การกำหนดคุณสมบัติของผู้จะทำหน้าที่บริหารค่าจ้างและเงินเดือนจึงไม่ชัดเจนเหมือนกับแพทย์หรือวิศวกร แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่าใครก็ได้ที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

ในเรื่องคุณสมบัติของผู้บริหารค่าจ้างและเงินเดือนนี้  Elizabeth Lanham ได้พูดว้าอย่างกว้างๆ คือ การศึกษาควรจะได้อย่างต่ำปริญญาตรี แต่ถ้าได้ปริญญาโทก็จะเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยควรจะมีวิชาเอกหรือวิชาโทด้านเศรษฐศาสตร์ อุตสาหกรรมสัมพันธ์ บริหารธุรกิจ จิตวิทยา และวิศวกรรมศาสตร์  นอกจากนั้นควรมีประสบการณ์หลายๆ ปีในงานอุตสาหกรรมสัมพันธ์ และควรจะเคยปฏิบัติงานด้านให้คำปรึกษาเรื่องการบริหารค่าจ้างและเงินเดือนมาบ้าง

ส่วน Adolph Langsner และ Herbert G.Zollitsch ได้พยายามแยกแยะคุณสมบัติของผู้บริหารค่าจ้างและเงินเดือนให้รายละเอียดมากขึ้น โดยกำหนดคุณสมบัติไว้ 3 ประการ คือ

  1. เป็นผู้มีความคิดในเชิงระบบหรือเชิงวิทยาศาสตร์
  2. เป็นผู้มีคุณลักษณะที่ปรารถนา
  3. เป็นผู้มีการศึกษาและประสบการณ์ตามที่ต้องการ

1. เป็นผู้มีความคิดในเชิงระบบหรือเชิงวิทยาศาสตร์

 ผู้ที่จะทำหน้าที่กำหนดลักษณะค่าจ้างและควบคุมเรื่องเงินเดือนนั้นควรจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานการบริหารงานแบบวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ในอดีตที่ผ่านมามักจะมองแต่เพียงว่าพื้นฐานการบริหารงานแบบวิทยาศาสตร์ หมายถึงเฉพาะเรื่องของการศึกษาการเคลื่อนไหวและเวลา  (Motion and Time Study)  หรือเรื่องการใช้เงินจูงใจเท่านั้น ความจริงแล้วการบริหารงานแบบวิทยาศาสตร์ยังคลอบคลุมถึงเรื่องการวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อใช้กำหนดกระบวนการของการทำงานอีกหลายอย่าง คือ การประมวลการใช้วัตถุดิบ การควบคุมการผลิต การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานที่แน่นอน การกำหนดค่าจ้างและเงินเดือนที่ทัดเทียมกัน และการกำหนดวิธีการในการจูงใจให้ทำงานรวมถึงการจัดสรรค่าตอบแทนเพิ่มเติมให้แก่พนักงานอีกด้วย ความสำเร็จของสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยวิธีการและควบคุมอย่างเป็นระบบเพื่อกำหนดว่ากิจกรรมใดที่จะต้องปฏิบัติตามที่วางไว้แต่ต้น

งานเขียนทางการบริหารมีอยู่มาก ที่พูดถึงวิธีการในการแก้ไขปัญหาจะทำกันอย่างไร เมื่อเราได้พบปัญหาแล้ว วิธีการต่อมาก็ให้ใช้ขั้นตอน 5 ประการ ของ “ความจริง”  เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว 5 ขั้นตอนของความจริง ได้แก่

        1.   ค้นหาความจริง

        2.   ตรวจสอบความจริง

        3.   กลั่นกรองความจริง

        4.   ยึดมั่นความจริง

        5.   เผชิญความจริงอย่างไม่กลัวเกรง

 

2. คุณลักษณะที่ปรารถนา

ด้วยเหตุที่รู้ๆกัน อยู่ว่าการกำหนดค่าตอบแทนแก่พนักงานนั้นหนีไม่พ้นที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์และปฏิกิริยามนุษย์ ผู้ที่จะทำหน้าที่บริหารค่าจ้างและเงินเดือนจึงจำเป็นต้องมีคุณลักษณะหรือเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์อย่างดียิ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการแรก นอกจากนั้นเขายังต้องเป็นผู้มีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆได้และยังตัดสินใจได้อย่างไม่ผิดพลาดอีกด้วย ผู้บริหารค่าจ้างและเงินเดือนจะต้องได้รับการศึกษาและฝึกอบรมให้เป็นผู้มีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ เพราะความจริงมีอยู่ว่าภายในองค์การหนึ่งๆนั้น บุคคลที่จะต้องพบปะกับพนักงานทุกระดับและเกือบทุกคนได้แก่ ผู้บริหารค่าจ้างและเงินเดือนนั่นเอง บุคคลนี้จึงควรได้รับการศึกษา การฝึกอบรม และการสะสมประสบการณ์ให้มากเพื่อพัฒนาคุณลักษณะของเขาให้ดียิ่งขึ้นไป

ส่วนคุณสมบัติทั่วๆไปที่ควรจะมี ได้แก่

        -    มีความกล้าที่จะเผชิญความจริง

        -    อดทน

        -    อดกลั้นและควบคุมตนเองได้

        -    รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา

        -    เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น

        -    ยอมรับในเรื่องความปรารถนาและความทะเยอะทะยานของผู้อื่น

        -    ให้ความร่วมมือและสนองตอบซึ่งกันและกัน

        -    มีจิตใจที่เป็นธรรม

        -    เต็มใจที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับเมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น

        -    รู้จักเอาอกเอาใจผู้อื่น รวมถึงมีความเอื้อเฟื้อและสุภาพเรียบร้อย

3. เป็นผู้มีการศึกษาและประสบการณ์ตามที่ต้องการ

คนที่จะมาเป็นผู้บริหารค่าจ้างและเงินเดือนควรที่จะผ่านการศึกษาระดับปริญญาตรีและถ้ามีผลงานการศึกษาในเรื่องการบริหารงานบุคคลด้วยแล้วจะยิ่งเหมาะสมมากขึ้น วิชาที่เรียนก็ควรจะเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจได้แก่ สถิติ การจัดการอุตสาหกรรม วิศวกรรมอุตสาหการ (โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาการเคลื่อนไหว และเวลา) การควบคุมโรงงานและการผลิตอุตสาหกรรมสัมพันธ์ เศรษฐศาสตร์  สังคมวิทยา จิตวิทยาอุตสาหกรรม และที่สำคัญที่สุด คือวิชาการบริหารค่าจ้างและเงินเดือน นอกจากนั้นควรมีประสบการณ์ในเรื่องอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ต้องมความคุ้นเคยในเรื่องกฎหมายการจ้างงาน และควรมีความรู้บ้างในเรื่ององค์การแรงงานทั้งหลาย และถ้าจะมีประสบการณ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการปรึกษาเรื่องการบริหารค่าจ้างและเงินเดือนแล้วก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

อัพเดทล่าสุด