ความเป็นมาของค่าตอบแทน


718 ผู้ชม


ความเป็นมาของค่าตอบแทน




ความเป็นมาของค่าตอบแทน

 

 

ค่าจ้างหรือเงินเดือน หรือค่าตอบแทนถ้าจะบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของผู้บริหารธุรกิจหรือพนักงาน เพราะทุกคนทำงานก็หวังถึงรายได้หรือค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ซึ่งเราจะมักเรียกกันว่า “ค่าจ้างหรือเงินเดือน” แต่สิ่งที่ยากที่สุดของผู้บริหารคือ บริษัทของเราควรจะกำหนดอัตราค่าจ้างมากน้อยแค่ไหน เท่าไหร่จึงจะเหมาะสมทั้งภายในบริษัทและแข่งขันกับตลาดภายนอกได้ ซึ่งจะยังประโยชน์ให้ใช้ค่าจ้างเป็นสิ่งดึงดูดให้คนดี มีความสามารถมาสู่บริษัทและอยู่เติบโตไปพร้อมกับการขยาย-เติบโตของธุรกิจ

คงจะมีคำถามที่สนใจกันอยู่ว่า แล้วสิ่งใดที่จะเรียกว่า ค่าจ้างหรือเงินเดือน หรือค่าตอบแทน หรือค่าแรง อย่างนั้นลองมาพิจารณาความหมายต่อไปนี้

 

ค่าตอบแทน  -  ค่าจ้าง – เงินเดือน  : ความหมายตามศัพท์บัญญัติ

Tracey, R.W. (1994) ใน HR Words you gotta know  ให้ความหมายของค่าจ้างดังนี้

“Compensation : Renumeration  for work performed or services rendered in the form of pay and allowances, salaries, wage, stipends. Fees and commissions, and bonuses and stock options.”

Cross, W. (1995)  ใน Encyclopedic Dictionary of Business Terms.  ให้ความหมายของค่าจ้างดังนี้

“Compensation : Salaries ,wages, employee benefits , and other financial advantages granted to employee for services rendered. Also, sums paid to employees for injuries or illness incurred on the job.”

“Salary : Regular payment for work done, made to an employee usually as a cheque at  end of each month.

Pay : Salary or wage or money given to someone for regular work.

Wage:  Money paid regularly (usually in cash each week) to a worker for work done.”

ม.ร.ว.สฤษดิคุณ กิติยากร (2537) ใน คำอธิบายประมวลศัพท์ธุรกิจที่ใช้ทั่วไปในภาษาอังกฤษ ให้ความหมายของกลุ่มคำเดียวกับค่าตอบแทน ดังนี้

“ Compensation”  ค่าตอบแทน หมายถึง ค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือนและผลประโยชน์อื่น ซึ่งนายจ้างพึงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เงินค่าทดแทนหรือชดใช้การสูญเสียต่างๆ

Pay  เงินเดือน ค่าจ้าง

Salary เงินเดือน ค่าตอบแทน การทำงานที่จ่ายให้พนักงานเป็นรายเดือนซึ่งอาจคิดเป็นค่าตอบแทนทั้งปีและแบ่งจ่ายรายเดือนก็ได้

Wage ค่าจ้าง ค่าตอบแทนในการทำงานซึ่งนายจ้างให้ลูกจ้าง โดยคิดตามอัตราชั่วโมงทำงานหรือจำนวนสิ่งของที่ผลิตได้

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (2532) ในประมวลศัพท์การบริหารงานบุคคลให้ความหมายไว้ว่า

“Compensation ค่าตอบแทน คือ ค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือน หรือผลประโยชน์อื่นๆที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างหรือพนักงาน เพื่อตอบแทนการทำงานหรืออาจหมายถึง ค่าตอบแทนที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าตอบแทนความสูญเสียต่างๆ

Salary เงินเดือน คือ ค่าตอบแทนการทำงานโดยตรงอย่างหนึ่งที่จ่ายให้เท่ากับทุกคาบเวลา การจ่ายเงินอาจเหมาจ่ายเป็นรายเดือน รวมทั้งวันหยุดด้วย ปกตินายจ้างจ่ายเดือนละหนึ่งครั้ง หรือแบ่งจ่ายเดือนละสองครั้งก็ได้

Wage ค่าจ้าง คือ  ค่าตอบแทนในการทำงานที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานในวันและเวลาปกติ ซึ่งอาจเป็นเงิน หรือเงินและสิ่งของโดยอาจคำนวณจ่ายตามผลงานที่ทำได้ หรือตามกำหนดระยะเวลาด้วยก็ได้”

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดไว้ในมาตรา 5 ว่า

“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายในลักษณะใด หรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 5 ระบุว่า

....... มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้

“ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติและเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

และในประมวลรัษฎากร ระบุไว้ว่า

....... มาตรา 40  เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึง ค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าวไม่ว่าในทอดใด

(1)  เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระและเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ  บรรดาที่ได้ เนื่องจากการจ้างแรงงาน

(2)   เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ...”

ข้อมูลอ้างอิง : ค่าตอบแทนตามผลสำเร็จ
เขียนโดย : ดนัย  เทียนพุฒ

 

อัพเดทล่าสุด