E-Recruitment การสรรหาและเลือกสรรบุคคลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระบบราชการ


2,754 ผู้ชม


E-Recruitment การสรรหาและเลือกสรรบุคคลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระบบราชการ




E-Recruitment

การสรรหาและเลือกสรรบุคคลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระบบราชการ

ระบบราชการที่เป็นเลิศจำเป็นต้องมีข้าราชการที่เป็นคนดีและคนเก่ง  ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนกลไกของระบบราชการให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  สามารถนำพาประเทศชาติให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันในเวทีโลกได้ การสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการจึงต้องมีการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยและสภาพการณ์ในโลกของข้อมูลข่าวสารและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าราชการที่เป็นมืออาชีพและมีศักยภาพสูง
กระบวนการสรรหาและเลือกสรรจึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและให้เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอล  โดยการนำเทคนิค วิธีการและกลยุทธ์ใหม่ ๆ มาปรับใช้  การสรรหาและเลือกสรรถือเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการบริหารทรัพยากรบุคคล อีกทั้งยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการดำเนินการพัฒนาบุคลากรในระยะยาวเพราะการสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานจะก่อเกิดผลสัมฤทธิ์ของงานที่มีประสิทธิภาพและจะช่วยให้บุคลากรสั่งสมความรู้ให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญในอาชีพของตน ซึ่งจะทำให้บุคลากรมีความสุขในการทำงานและทำงานได้เต็มกำลังความสามารถ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสภาวะแวดล้อมต่างๆของหน่วยงาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และเทคโนโลยี ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นให้บุคลากรมีการปรับปรุงตนเอง องค์กรต้องปรับรูปแบบการทำงานและการบริหารจัดการเสียใหม่  ดังจะเห็นได้ว่าไม่ว่าในภาคเอกชนหรือราชการต้องมีการปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้สนองต่อความต้องการของลูกค้าเพื่อให้สามารถติดต่อประสานงานระหว่างกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมความคล่องตัวและการติดต่อสื่อสารนั้นก็คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการด้านเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงานให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง และทันสมัย  ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานในทุกๆด้าน ต้องตระหนักถึงความคุ้มค่า ประโยชน์ที่จะได้รับ ผลดีและผลเสียของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงานด้วย หากเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จะต้องมีการศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน จึงจะสามารถเลือกเทคโนโลยีที่ดีจริงมาประยุกต์ใช้กับสภาพองค์กร สิ่งสำคัญคือ การที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้จะต้องปรับปรุงเทคโนโลยีนั้นด้วยความฉลาด เพื่อให้เหมาะสมกับฐานะและสภาพของประเทศชาติและประชาชน
สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการในกระทรวง ทบวง กรม ฝ่ายพลเรือน ทั้งในฐานะผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการสอบ จึงได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐเชิงกลยุทธ์ระดับมหภาค โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐไปสู่ระบบที่เป็นสากลและมีประสิทธิภาพ สอดรับกับรูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์ ความคุ้มค่า ความรับผิดชอบและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและประชาชนผู้รับบริการ  
การสรรหาและเลือกสรรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและเป็นคนดี มีคุณธรรมเข้ารับราชการ  คือ บทบาทหน้าที่ของ สำนักงาน  ก.พ.  การดำเนินการสรรหาและเลือกสรรจึงต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบที่สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนการบริหารงานภาครัฐ
เทคโนโลยีสารสนเทศและความก้าวหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์จึงได้ถูกนำมาใช้ในการสรรหาและเลือกสรรบุคคลหรือที่เรียกว่า e-Recruitment ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับวิธีการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการให้มีความ

หลากหลาย  เหมาะสม  และสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคม และการบริหารภาครัฐแนวใหม่ ทั้งยังสามารถบริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยมีกรอบหลักการ ดังนี้
 เพื่อช่วยในการบริหารจัดการกับคนจำนวนมาก โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์  ช่วยให้การดำเนินการสรรหา  เลือกสรร และบรรจุ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ระบบการสรรหาดังกล่าวจะช่วยสนองต่อพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม (ที่ต้องเผชิญกับการบริหารจัดการกับคนจำนวนมาก)  และการเปลี่ยนแปลงของระบบบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น การปรับปรุงระบบตำแหน่งและเงินเดือน  การพัฒนาบุคลากร การจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนภาครัฐ รวมทั้งสอดรับกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ
 เพื่อช่วยการสรรหาและกลั่นกรองบุคคลที่มีคุณลักษณะที่หลากหลาย เช่น กลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะ  กลุ่มที่มีผู้สมัครน้อย และกลุ่มที่มีผู้สมัครมาก โดยสามารถจัดกลุ่มและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ  ความชำนาญการเฉพาะของแต่ละกลุ่มตำแหน่งได้ 
 เพื่อปรับปรุงและอำนวยความสะดวกในการแบ่งกิจกรรมการสรรหาและเลือกสรรบุคคล เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแบ่งกลุ่มตำแหน่ง กลั่นกรองบุคคลจากใบสมัคร การตรวจสอบความถูกต้องของประวัติผู้สมัคร การกลั่นกรองด้วยการสอบข้อเขียนหรือแบบทดสอบสมรรถนะ
สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อปรับปรุงระบบการสรรหาและเลือกสรรให้มีประสิทธิภาพ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เกิดระบบ e-Recruitment ที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย
 การเผยแพร่ข่าวและรับสมัคร  ทาง Internet (e-Registration)
 การบริหารจัดการเครื่องมือประเมินบุคคล  โดยการพัฒนาระบบคลังข้อสอบและเครื่องมือประเมินบุคคล (e-Item Bank)
 วิธีการสอบ  โดยการพัฒนาการสอบและการประเมินสมรรถนะด้วยคอมพิวเตอร์ (e-Exam)
 การประมวลผลการสอบ  โดยการปรับปรุงโปรแกรมประมวลผลให้หลากหลายและได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น (e-Data Processing)
 การรับรองคุณวุฒิ  โดยการพัฒนาระบบที่ส่วนราชการสามารถดำเนินการได้เอง โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลคุณวุฒิจากแหล่งข้อมูลทาง Internet (e-Accreditation)
 การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ  โดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลบุคคล และจัดทำระบบคัดเลือกคนที่เหมาะสมให้กับงาน 
กล่าวได้ว่า การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการจำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นระบบสรรหาและเลือกสรรด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Recruitment) เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความโปร่งใส ยุติธรรม เสมอภาค สะดวก รวดเร็ว และคุ้มค่า นอกจากนั้น ยังช่วยให้เกิดการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับงานภาครัฐและทำให้เกิดระบบฐานข้อมูลผู้สนใจงานราชการและฐานข้อมูลผู้ผ่านการคัดเลือก ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการทำงานของส่วนราชการ   ให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนกำลังคน รวมทั้งการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 โดย  ภมรพรรณ วงศ์เงิน                     

คอลัมน์ "กระแสคนกระแสโลก"
ในหนังสือพิมพ์ มติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 5 กรกฎาคม 2550
                                                       


อัพเดทล่าสุด