สิ่งท้าทายต่อนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคสารสนเทศและการแข่งขัน
สิ่งท้าทายต่อนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคสารสนเทศและการแข่งขัน
ขณะที่โลกได้มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก่อให้เกิดโอกาสและวิกฤติขึ้น จนมีผลทำให้องค์การธุรกิจต้องปรับตัวเป็นการใหญ่นั้น สิ่งท้าทายใหม่ๆที่มีผลต่อผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรและที่ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องกลายเป็นปัจจัยท้าทายนักบริหารทรัพยากรมนุษย์โดยตรงด้วยนั้น นักวิชาการด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้สรุปปัจจัยท้าทายไว้ 8 ประการ คือ
การเกิดสภาพโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ทำให้สภาพตลาดขยายกว้างเป็นแบบไร้พรมแดน ที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความไม่แน่นอนสูง ตามด้วยการแข่งขันข้ามพรมแดนและการขยายตัวไปแสวงหาโอกาสใหม่ เช่น การขยายการลงทุนไปทั่วโลก ได้ท้าทายให้ต้องมีกลยุทธ์การบริหารข้ามประเทศ และข้ามวัฒนธรรม
การเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มในสายโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) เพื่อการแข่งขัน อันเป็นผลทำให้องค์กาต่างๆ ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารองค์กรของตน ส่งผลทำให้ทุกฝ่ายต่างหันกลับมาสนใจทบทวนขอบเขตหน้าที่การทำงานด้านทรัพยากรมนุษย์ให้มีส่วนในการเสริมสร้างคุณค่าในการใช้แข่งขันให้ได้ผลมากขึ้น
การสร้างผลกำไรด้วยการลดต้นทุนและเพื่อการเติบโต นั่นคือไม่ว่าจะเป็นผลกำไรที่ต้องการเพิ่ม ต้นทุนที่จะลดลงได้และ / หรือ การจะมีทุนขยายเติบโตต่อไปนั้น ล้วนแต่จะได้มาจากการปรับปรุงสร้างประสิทธิภาพให้สูงขึ้นจากเดิมทั้งสิ้น การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ที่จะขายให้ได้ราคาดีจึงท้าทายนักบริหารทุกระดับจากทุกหน้าที่
การมุ่งสนใจสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Capability Focus) เพราะปัจจัยที่จะช่วยให้สามารถชนะการแข่งขันได้อย่างแท้จริงนั้น คือ ทักษะความสามารถในการทำงานในเงื่อนไขใหม่ ซึ่งผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์จะ ต้องมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ทักษะ และสร้างความรู้ความสามารถให้มีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง ทำให้ผู้บริหารต้องปรับตัว ทำการบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำเอา กลยุทธ์บริหารใหม่ๆ มาใช้ ส่งผลทำให้การแปลงสภาพและปรับตัวแบบลงลึกต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากผู้ชำนาญการหลายๆ ด้าน รวมทั้งผู้บริหารงานด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่จะต้องเป็นคนกลาง ที่ต้องคอยประสานงานในการบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วย
นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาเร็วแบบก้าวกระโดด ทำให้ระบบงานและสภาพการทำงานและความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้บริหารขององค์กรต้องติดตามและพิจารณาจัดหามาใช้งานและปรับการทำงานตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง
การต้องแสวงหา รักษา และวัดผลความสามารถและทรัพย์ทางปัญญา ซึ่งรวมถึงทรัพยากรมนุษย์ที่เก่งกาจและมีความรู้ความสามารถ จะทำให้องค์กรมีความเหนือกว่าและชนะได้อย่างยั่งยืนในการแข่งขันระยะยาว
การต้องแปลงสภาพองค์กร (Transformation) มากกว่าการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในกรอบเดิมๆ (Turnaround) ที่กล่าวนี้สะท้อนถึงภารกิจการพัฒนาองค์กรที่นักบริหารจะต้องทำอย่างมีน้ำหนัก ลงลึกและได้ผล เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงลึกลงไปในเนื้อหาให้สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและต่างจากเดิม
ที่มา : รองศาสตราจารย์ ธงชัย สันติวงษ์